บทนำ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยสมาชิกของทั้งสองสภาย่อมถือเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป นับเป็นสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา

สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน และมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวน 150 สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ประกอบด้วยพรรคการเมือง 25 พรรค ซึ่งนับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 เริ่มต้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีการประชุมครบ 4 ปี 8 สมัยประชุม ซึ่งสมัยประชุมสมัยสุดท้ายได้สิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ก่อนที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 โดยที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ส่งผลให้อายุของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 สิ้นสุดลง และกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ตลอดระยะเวลาเกือบจะ 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ก่อนคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนได้ตัดสินใจทางการเมืองโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ให้เป็นไปตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ เพื่อธํารงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย จึงได้สร้างผลงานสำคัญมากมาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่สำเร็จผลสูงสุด สมดังที่ได้ปฏิญาณตนไว้ ก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า

“ข้าพเจ้า...ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ผลจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 รวม 224 ครั้ง ได้พิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ ทั้งที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนได้ตราข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นมาตรฐานในการดำรงตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ผ่านกลไกการพิจารณากระทู้ ญัตติ การเปิดอภิปรายทั่วไป ตลอดจนการพิจารณาข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งได้พัฒนาให้เกิดระบบการส่งและแจ้งผลเรื่องร้องทุกข์ ที่เสนอต่อประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งระบบการแจ้งผลและจัดเก็บข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญ รวม 140 คณะ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด และรายงานให้สภาทราบ ครอบคลุมภารกิจทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง และด้านสังคม โดยได้ดำเนินภารกิจต่อเนื่องทั้งในสมัยประชุมและนอกสมัยประชุม คณะกรรมาธิการจึงเป็นกลไกที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยสนับสนุน การทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศช่วงสมัยของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 รัฐสภาไทยมีบทบาทสำคัญในการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นการประชุมตามพันธกรณีและการประชุมที่มิได้เป็นพันธกรณี โดยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ รวม 4 ครั้ง ทั้งการประชุมภายใต้กรอบสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) และการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) นอกจากนี้ ยังมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทยกับประเทศคู่กลุ่ม รวมทั้งการเดินทางเยือนต่างประเทศและการรับรองบุคคลสำคัญชาวต่างประเทศ อันนำไปสู่ความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ อันจะเป็นการสืบสานการทูตรัฐสภา เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของปวงชนชาวไทยบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

วัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะเผยแพร่ผลงานสำคัญของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการสามัญชุดที่ผ่านมา การดำเนินงานรัฐสภาระหว่างประเทศ รวมทั้งงานด้านวิชาการ และผลการเลือกตั้ง 2566 สู่สาธารณชนในวงกว้างแล้ว ยังได้นำเสนอข้อมูลแนวโน้มการดำเนินงานในอนาคตภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่านมุมมองของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย และตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย

วีดิทัศน์

วีดิทัศน์ เรื่อง อำนาจหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร

นิทรรศการ ณ โถงอาคารรัฐสภา ชั้น B1