ตอนที่ 1 : หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” ได้ทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
วันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามที่คณะราษฎรเสนอมา โดยทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ต่อท้าย ทั้งนี้ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่า ให้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นไปชั่วคราวก่อน แล้วให้สภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งขึ้นจัดทำธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับถาวรขึ้นใช้แทนต่อไป
วันที่ 28 มิถุนายน 2475 ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกและครั้งแรกของไทย ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานอนุกรรมการ ระหว่างที่คณะอนุกรรมการกำลังร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินอยู่นั้น ได้เชิญชวนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ในการนี้ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ได้แสดงความคิดเห็นให้เปลี่ยนชื่อเรียกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” แทน และอนุกรรมการฯ เห็นชอบด้วย
เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นลง คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2475 และมีมติให้นำร่างรัฐธรรมนูญกลับไปพิจารณาภายในเวลา 10 วัน เพื่อความรอบคอบ แล้วนำกลับเข้ามาประชุมพิจารณากันอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2475 จนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2475 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2475 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งจะปรากฏในส่วนแรกของรัฐธรรมนูญ และที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชปรารภนั้น จึงถือเป็นการสิ้นสุดของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้นำรัฐธรรมนูญไปจารึกลงในสมุดไทย จำนวน 3 ฉบับ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป
วันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทยที่จัดทำขึ้นทั้ง 3 ฉบับแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในโอกาสเดียวกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 11 และ 12 ธันวาคม 2475 ด้วย ถือเป็นการให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว คำขวัญของชาติจากเดิมที่ว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้เปลี่ยนเป็น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ต่อมาภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทางราชการได้กลับไปใช้คำขวัญเดิม
ในการจัดพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติในปี 2477 แล้วก็ตาม โดยในปีต่อ ๆ มา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ประกอบพิธีดังกล่าวแทน
วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ คือ วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย
วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ วันที่ 27 มิถุนายน
เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว
วันรัฐธรรมนูญ คือ ตั้งแต่วันที่ 9 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม เป็นช่วงเวลาที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
พุทธศักราช 2475 และมีการจัดพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ
วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ 24 มิถุนายน เปลี่ยนเป็น
วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว
วันรัฐธรรมนูญ
โดยวันชาติ จากที่เคยเป็นวันที่ 23 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน มาเป็น
ส่วนวันรัฐธรรมนูญ จากที่เคยเป็นวันที่ 9 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม มาเป็น
วันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอ่านคำประกาศดำเนินกระแสพระบรมราชโองการพระราชทานธรรมนูญฯ มี มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เชิญรัฐธรรมนูญน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามแด่เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก” ของสยามประเทศ และนั่นจึงทำให้เกิดธรรมเนียมประเพณีที่เรียกว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ตามมา
เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว รัฐบาลไทยจึงเห็นควรให้มีการฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม 2475 มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญกันทั่วประเทศอย่างคึกคัก มีทั้งการแสดงมหรสพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลิเก ละคร โขน งิ้ว ภาพยนตร์ มีการประกวดการออกร้านค้า การจำหน่ายสินค้า ทั่วบริเวณพื้นที่สำคัญในยุคนั้น อาทิ ท้องสนามหลวง พระบรมมหาราชวัง ท่าราชวรดิษฐ์ วัดราชบูรณะ รวมถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และตามสถานที่สำคัญในจังหวัดต่าง ๆ และในปีต่อมาได้มีการขยายขอบเขตการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญยังสถานทูตไทยในต่างประเทศอีกด้วย
ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ 3 วัน ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม โดยวันแรกเป็น “งานพระราชพิธี” ส่วนสองวันที่เหลือเป็น “งานฉลองและแสดงมหรสพ” อีกทั้งยังเคยย้ายสถานที่จัดหลายแห่ง อาทิ วังสราญรมย์ สนามหลวง ท่าราชวรดิฐ เขาดินวนา และที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนคือในปี พ.ศ. 2476 เคยมีงานฉลองรัฐธรรมนูญยาวนานกว่าครึ่งเดือน คือตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน ไปจนถึง 12 ธันวาคม กันเลยทีเดียว
อีกทั้งงานฉลองรัฐธรรมนูญในยุคแรก ช่วงปี พ.ศ. 2475-2483 จัดขึ้น 2 ครั้งต่อปี คือในวันที่ 27 มิถุนายน เพื่อฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และวันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ในปี พ.ศ. 2483 เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในวันที่ 24 มิถุนายน และกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็น “วันชาติ” และเป็นวันหยุดของทางราชการประจำปีถึง 3 วัน จึงได้ประกาศให้มีวันฉลองรัฐธรรมนูญเหลือเพียงวันที่ 10 ธันวาคมวันเดียว
แม้ว่างานฉลองรัฐธรรมนูญ ได้ลดบทบาทความสำคัญลงมากตั้งแต่ช่วงราวปี พ.ศ. 2490 สืบเนื่องมาจากภาวะสงครามโลก และการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2501 เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นมหกรรมไปโดยสิ้นเชิง คงไว้เพียงงานพระราชพิธีในวันที่ 10 ธันวาคมเท่านั้น
ทั้งนี้ งานฉลองรัฐธรรมนูญมิได้ยกเลิกทุกจังหวัดเสียทีเดียว บางจังหวัดได้จัดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อาทิ จังหวัดตรัง ได้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรังไปแล้ว โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2476 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง (หลังเดิม) เดิมทีใช้ชื่องานว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” เป็นการจัดงานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย และในปีต่อ ๆ มาได้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี พ.ศ. 2489 ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่องานเป็น “งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ” เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และงานฉลองรัฐธรรมนูญไปพร้อมกัน
ปัจจุบัน จังหวัดตรังใช้ชื่องานว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึงการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยครั้งแรก ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรชาวตรัง รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน โดยมีการออกร้านของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งการออกร้านกาชาดเพื่อการกุศล