ตราประจำตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร



ข้อมูล : กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ

เผยแพร่ : 27 / กุมภาพันธ์ / 2566



picture

picture

picture

picture

picture

picture

picture

picture




วัตถุ : ตราประจำตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

รายละเอียด : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติงานของสภาผู้แทนราษฎร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราประจำชาด เป็นรูปวงกลม ลายกลางเป็นรูปรัฐธรรมนูญ ศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร มีรัศมีประดิษฐานอยู่บนพาน 2 ชั้น บนลวดลายกนก เป็น “ตราประจำตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อใช้ประทับกำกับลายมือชื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นการยืนยันเอกสารหลักฐานในราชการ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2486

เมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทน ประกอบกับได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2490 กำหนดให้มีสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการของพฤฒสภาและสภาผู้แทน และให้โอนสิทธิและความรับผิดชอบของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา รวมทั้งสิทธิในตราประจำตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้นับแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2486 ด้วย

ต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 กำหนดให้มีสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2494 กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร และให้โอนสิทธิและความรับผิดชอบของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาไปเป็นของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราประจำชาดดังกล่าว เป็นตราประจำตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสืบต่อมา นับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2495 นับตั้งแต่นั้นมา ยังไม่มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงตราประจำตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างอื่น

ตราประจำตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาเป็นที่เข้าใจของบุคคลทั่วไปว่าเป็นตราสัญลักษณ์ของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ก็ได้นำไปใช้ในการต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นกิจกรรมของรัฐสภา จวบถึงปัจจุบัน