ผลงานประธานสภาผู้แทนราษฎร

ผลงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีความโดดเด่นในช่วงสมัยสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ซึ่งมีสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินการ อาทิ ระบบการแจ้งผลและจัดเก็บข้อปรึกษาหารือของสมาชิกผู้แทนราษฎร การส่งและแจ้งผลเรื่องร้องทุกข์ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และการดำเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ระบบการแจ้งผลและจัดเก็บข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรึกษาหารือ เกี่ยวกับประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ซึ่งในการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 - 4 (พ.ศ. 2562 - 2566) มีการปรึกษาหารือ จำนวนทั้งสิ้น 11,346 ข้อ กลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกับสำนักสารสนเทศ พัฒนาระบบการแจ้งผลและจัดเก็บข้อปรึกษาหารือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ “ระบบการแจ้งผลและจัดเก็บข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถสืบค้นข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านไอคอนบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) เครื่องแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ (Tablet computer) ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษได้เป็นจำนวนมาก

2. การส่งและแจ้งผลเรื่องร้องทุกข์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนไว้ในมาตรา 41 (2) เป็นผลให้ประชาชนสามารถเสนอเรื่องร้องทุกข์ต่อประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรตามช่องทางต่าง ๆ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา ด้วยการประสานส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้ ประชาชนยังได้อาศัยช่องทางดังกล่าว แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย โดยหากกล่าวเฉพาะการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานฝ่ายบริหาร การดำเนินการในช่วงแรกของสมัยสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 จะเป็นการส่งเรื่องไป และแจ้งผลให้ผู้ร้องทราบในรูปแบบของหนังสือราชการและสำเนาเอกสารที่เป็นกระดาษ และเพื่อให้การจัดการเรื่องร้องทุกข์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับมอบนโยบายจากผู้บริหาร จึงได้ขอความอนุเคราะห์เข้าใช้ระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในการส่งเรื่องในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และต่อมา เมื่อสำนักงานฯ ได้รับอนุญาตและประธานฯ ได้เห็นชอบด้วย จนกระทั่งสำนักงานปลัดฯ ได้ปรับปรุงระบบให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของสำนักงานฯ แล้วสำนักงานฯ จึงได้นำส่งเรื่องร้องทุกข์ และมีการแจ้งผลผ่านทางระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา

3. คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร
ในสมัยสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของข้อบังคับ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 โดยประชาสัมพันธ์มาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ และการกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรม การเผยแพร่ระเบียบ ประกาศ คำสั่งในการดำเนินการด้านจริยธรรมในราชกิจจานุเบกษา และแจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทราบ ในส่วนของการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่มีการกล่าวหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรจากบุคคลภายนอก เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง เรื่องร้องเรียนจริยธรรม เมื่อคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาเรื่องจริยธรรมเรื่องใดแล้ว ได้มีการจัดทำจดหมายข่าวคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่ผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนทราบ โดยในสมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เป็นชุดแรกที่มีการดำเนินการเรื่องร้องเรียนจริยธรรมแล้วเสร็จเป็นรูปธรรม มีการลงโทษสมาชิกที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม และจัดทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทราบผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรม

ทิศทางประกอบการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

1. ระบบการแจ้งผลและจัดเก็บข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ทิศทางประกอบการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ระบบการแจ้งผลและจัดเก็บข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะมีการพัฒนาต่อยอดร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้อนุญาตให้ใช้แพลตฟอร์มของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในการส่งข้อปรึกษาหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น“ระบบการจัดการข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (Consultation management system for Members of the House of Representatives : C4M) ซึ่งจะช่วยให้การจัดการข้อปรึกษาหารือเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการดำเนินการ ลดการใช้กระดาษ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถทราบการแจ้งผลการดำเนินการตามข้อปรึกษาหารือได้รวดเร็วขึ้น สามารถติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ด้วยตนเอง

2. การส่งและแจ้งผลเรื่องร้องทุกข์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
การดำเนินการส่งและแจ้งผลเรื่องร้องทุกข์ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ข้างต้นที่ผ่านมานั้น สามารถทำให้การจัดการเรื่องร้องทุกข์ เกิดการลดขั้นตอน ลดการใช้กระดาษ ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าได้ด้วยตนเอง รวมทั้งทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี จึงควรที่จะดำเนินการในรูปแบบนี้ต่อไปในสมัยสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

3. คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร
ในสมัยสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ฝ่ายเลขานุการคณะกรรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร จะได้เสนอตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรจากบุคคลภายนอก สภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรองเรื่องร้องเรียน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการพิจารณาที่เป็นกลาง ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เมื่อการพิจารณาเรื่องร้องเรียนใดแล้วเสร็จ จะได้รายงานผลการพิจารณาต่อสาธารณชนเพื่อทราบในรูปแบบจดหมายข่าวคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐสภาสีเขียว (Green Office) ลดการใช้กระดาษ รวมทั้งฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร จะได้เสนอแนวทางการจัดส่งเอกสารการประชุมในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์

ผลงานสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 และการสนับสนุนงานด้านวิชาการ