บทบาทหน้าที่หนึ่งของรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภาไทย คือ การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างรัฐสภาต่างประเทศ เพื่อผลักดันแนวคิด หรือแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในกรอบของรัฐสภาระหว่างประเทศด้วยวิถีการทูตรัฐสภา โดยสมาชิกรัฐสภามีบทบาทสำคัญ แบ่งได้ 2 ระดับ ได้แก่
1) บทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ระดับพหุภาคี โดยรัฐสภาไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกและร่วมจัดตั้งองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union - IPU) สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก(Asian-Pacific Parliamentarians’ Union - APPU) สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly - AIPA) ฯลฯ ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาจะมีภารกิจในการเข้าร่วมประชุมหรือเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมตามวาระที่กำหนด
2) บทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี อาทิ การแลกเปลี่ยน การเยี่ยมเยือน และการให้การรับรองระหว่างกัน ทั้งในระดับประธานรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา คณะทูตานุทูต และบุคคลสำคัญของประเทศ
ในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาจะมีหน่วยงานสนับสนุนจำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ 2) สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3) สำนักภาษาต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนงานเชิงวิชาการและสารัตถะ อาทิ เอกสารประกอบการสนทนา เอกสารสารัตถะการประชุม รวมทั้งการจัดแปลเอกสาร และปฏิบัติหน้าที่ล่ามประเภทต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภารกิจต่างประเทศ (ล่ามพูดตาม ล่ามพูดพร้อม ล่ามกระซิบ ในการประชุมหรือการรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ)
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนภารกิจของสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทางการปฏิบัติงานในอนาคตในเวลา 5 ปีต่อไปนี้ ตามแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี
(พ.ศ. 2566 - 2570) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด้านต่างประเทศ ไว้ในประเด็นการพัฒนาที่ 2
ส่งเสริมบทบาทรัฐสภาไทยด้านความร่วมมือในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศ ประกอบไปด้วย 2 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
1) พัฒนาการสร้างเครือข่ายความร่วมมือภายในประเทศและรัฐสภาระหว่างประเทศ
2) พัฒนาภารกิจด้านรัฐสภาระหว่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
โดยมีเป้าประสงค์ คือ การดำเนินงานด้านการต่างประเทศของรัฐสภาไทย มีการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศ ดังนี้
รัฐสภาไทยเน้นบทบาทเชิงรุกในการสร้างความสัมพันธ์พหุภาคีกับองค์กรรัฐสภาระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความเข้าใจ
และความสัมพันธ์อันดีในเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาค ในฐานะหน่วยงานด้านนิติบัญญัติที่ขับเคลื่อนและผลักดันประเด็นการพัฒนา
รวมถึงสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อเพิ่มความร่วมมือ และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนกับนานาประเทศ
โดยดำเนินงานอย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วนทั้งใน/หรือนอกประเทศ ให้เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานสากล สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว
ข้อมูลมีความถูกต้อง แม่นยำ ทันสมัย พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และยกระดับความสามารถของบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพ
และพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ภารกิจในด้านความสัมพันธ์ระดับพหุภาคีที่สำคัญ ซึ่งจะต้องดำเนินการต่อไป
นอกเหนือจากการส่งคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศในวาระต่าง ๆ แล้ว ยังมีวาระที่จะต้องสานต่อจากสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25
เช่น การส่งเสริมบทบาทของสมาชิกรัฐสภาสตรีและยุวสมาชิกรัฐสภา รวมไปถึงการเสนอรายชื่อผู้แทนรัฐสภาไทย
เพื่อรับการคัดเลือกเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศต่าง ๆ หรือการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น
รางวัลเครเมอร์ พาสซี ของสหภาพรัฐสภา รางวัลผู้ทำคุณงามความดีของสมัชชารัฐสภาอาเซียน เป็นต้น
โดยการส่งเสริมการทูตรัฐสภาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
โดยผู้บริหารฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ ประธานรัฐสภา รองประธานฯ และสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ
ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน การจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาระหว่างกัน ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
โดยใช้การทูตรัฐสภา อันจะทำให้รัฐสภาไทยมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่น มีเกียรติภูมิ มีบทบาทในการดำเนินงานภารกิจ
และพันธกิจด้านต่างประเทศในระดับทวิภาคีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสมรรถนะให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นในระดับนานาชาติในศักยภาพ ประสิทธิภาพของรัฐสภาในระดับพหุภาคี
รวมถึงผลักดันประเด็นผลประโยชน์และความท้าทายต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ
สำหรับภารกิจในด้านความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ซึ่งเห็นควรดำเนินการต่อไปเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26
สนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายบริหารในบทบาทของสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ การให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ
อาทิ การให้ความเห็นชอบในการลงนามเขตการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และไทย-สหภาพยุโรป เป็นต้น
ในส่วนของกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทยระหว่างประเทศ มีภารกิจที่จำเป็นต้องสานต่อจากการดำเนินงานของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้แก่
การแลกเปลี่ยนการเยือนที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นภายหลังจากที่หยุดชะงักลงในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
รวมทั้งการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐสภาของประเทศคู่กลุ่ม ซึ่งจะเป็นการยกระดับความร่วมมือในระดับรัฐสภาอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
และการผลักดันให้มีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพในรัฐสภาของประเทศคู่กลุ่มให้ครบทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน
และภูมิภาคเอเชียที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศไทย อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในระดับประชาชนต่อประชาชนอย่างแท้จริง
สำนักภาษาต่างประเทศสนับสนุนภารกิจดังกล่าว โดยการให้บริการงานแปลและล่ามให้แก่สมาชิกรัฐสภา ด้วยคุณภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเชี่ยวชาญในภาษาที่มีความหลากหลาย อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาสเปน ภาษาเยอรมัน และภาษาอาหรับ โดยผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานรองรับภารกิจของสมาชิกฯ ในทุกมิติ และจัดทำข้อมูล/เอกสารเชิงวิชาการด้านนิติบัญญัติ และด้านต่างประเทศ ทั้งนี้ บุคลากรของสำนักภาษาต่างประเทศได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติราชการข้างต้น เพื่อยกระดับความสามารถของบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพ และมีความพร้อมในการสนับสนุนสมาชิกรัฐสภาไทยทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี อันเป็นการยกระดับความสัมพันธ์และสนับสนุนสมาชิกฯ ให้มีบทบาทนำในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศ
จัดแสดงเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของรัฐสภาไทย มีรายละเอียดดังนี้