สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะฝ่ายเลขานุการในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ขอเสนอผลการดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเผยแพร่ให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ได้ทราบการดำเนินงานของสภาชุดที่ผ่านมา
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 มีการประชุม จำนวน 224 ครั้ง มีผลงานที่สำคัญพอสรุปได้ คือ
1. ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติ จำนวน 50 ฉบับ
2. อนุมัติพระราชกำหนด จำนวน 12 ฉบับ
3. ให้ความเห็นชอบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 3 ฉบับ
4. มีการพิจารณาญัตติ จำนวน 53 เรื่อง รวม 293 ญัตติ
5. มีการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 ครั้ง
6. มีการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 ครั้ง
7. มีการพิจารณารับรายงานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จำนวน 191 เรื่อง
8. มีการตอบกระทู้ถาม
- กระทู้ถามสด จำนวน 185 กระทู้
- กระทู้ถามทั่วไปตอบในที่ประชุมสภา 208 กระทู้
- กระทู้ถามแยกเฉพาะ จำนวน 288 กระทู้
- กระทู้ถามทั่วไปตอบในราชกิจจานุเบกษา จำนวน 363 กระทู้
9. มีการปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม จำนวน 11,338 ข้อหารือ
รัฐสภามีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา จำนวน 60 ครั้ง
มีผลงานที่สำคัญพอสรุปได้ คือ
1. ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1 ฉบับ
2. ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ฉบับ
3. ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ จำนวน 13 ฉบับ
4. ให้ความเห็นชอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จำนวน 1 ฉบับ
5. ให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา จำนวน 17 เรื่อง
6. มีการเปิดอภิปรายเพื่อรับฟังความคิดเห็น จำนวน 1 ครั้ง
การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถาม เป็นวิธีการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนสามารถตั้งคำถาม เพื่อให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ตอบคำถามในปัญหาที่สงสัยเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าการตอบกระทู้ถามนั้นจะตอบด้วยวาจา หรือจะตอบเป็นลายลักษณ์อักษร กระทู้ถามจึงเป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พบปัญหาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน จนต้องนำมาตั้งเป็นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลและรัฐมนตรีสนใจ และให้ความสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน เอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน
ข้อบังคับฯ ได้กำหนดลักษณะของกระทู้ถามแยกเฉพาะไว้ว่า กระทู้ถามแยกเฉพาะ คือ กระทู้ถามที่มีลักษณะเฉพาะเรื่อง เฉพาะพื้นที่ เฉพาะบุคคล หรือสมาชิกระบุว่าให้ตอบในห้องกระทู้ถาม ให้ถือเป็นกระทู้ถามแยกเฉพาะ ประธานสภาอาจกำหนดให้มีการถามและการตอบในห้องกระทู้ถามก็ได้ การตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะให้เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือยื่นต่อประธานสภา (ข้อ 168) ในกระบวนการพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะ เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่าเป็นกระทู้ถามแยกเฉพาะแล้ว ให้จัดส่งกระทู้ถามแยกเฉพาะไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ (ข้อ 170)
การบรรจุกระทู้ถามแยกเฉพาะ จะบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ส่งไปยังนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามลำดับก่อนหลังที่ได้ยื่นต่อประธานสภา (ข้อ 171) ซึ่งการประชุมครั้งหนึ่ง ให้มีกระทู้ถามแยกเฉพาะตามจำนวนที่ประธานสภากำหนด (ข้อ 173 วรรคหนึ่ง) ตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง จำนวนกระทู้ถามแยกเฉพาะ พ.ศ. 2562 ข้อ 2 กำหนดให้มีการบรรจุกระทู้ถามแยกเฉพาะจำนวนไม่เกิน 6 กระทู้ ในกรณีที่มีกระทู้ถามแยกเฉพาะรอบรรจุระเบียบวาระการประชุมจำนวนมาก หรือมีกระทู้ถามแยกเฉพาะที่เลื่อนมาจากการประชุมครั้งที่แล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะบรรจุกระทู้ถามแยกเฉพาะเกินกว่านี้ก็ได้
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระกระทู้ถาม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สั่งให้ดำเนินการถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะในห้องกระทู้ถาม เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระกระทู้ถาม ให้ประธานสั่งให้ดำเนินการถามและตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะในห้องกระทู้ถาม (ข้อ 172 วรรคหนึ่ง)(กระทู้ถามแยกเฉพาะเริ่มพิจารณาหลังจากจบการปรึกษาหารือของสมาชิก พร้อมกับวาระการพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา)
กระทู้ถามแยกเฉพาะ แต่ละกระทู้ ต้องถามและตอบให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 20 นาที เมื่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ตอบแล้ว ผู้ตั้งกระทู้ถามมีสิทธิซักถามได้อีกหนึ่งครั้ง เว้นแต่จะขอซักถามต่อไป เพราะคำตอบยังไม่หมดประเด็น และประธานสภาผู้แทนราษฎรอนุญาต (ข้อ 173 วรรคสอง ประกอบข้อ 167)
การถามและการตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ
จะใช้ห้องกระทู้ถามตามที่ประธานสภาจัดให้มีในบริเวณสภา (ข้อ 169) ซึ่งปัจจุบันห้องกระทู้ถาม (กระทู้ถามแยกเฉพาะ) ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคารรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยภายในห้องกระทู้ถามจะมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ บัลลังก์ประธาน
ที่นั่งสำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักการประชุม ที่นั่งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ตั้งกระทู้ถาม) ที่นั่งสำหรับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
(ผู้ตอบกระทู้ถาม) ที่นั่งสำหรับประชาชน ที่นั่งสำหรับเจ้าหน้าที่จดรายงานการประชุม ล่ามภาษามือ และเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
เป็นต้น ทั้งนี้ การพิจารณากระทู้ถามแยกเฉพาะแต่ละครั้ง จะมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ และจะเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
หลังจากจบการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้น
กระทู้ถามแยกเฉพาะที่ยังไม่ได้ตอบ หรือยังไม่ได้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมในสมัยประชุมหนึ่ง ๆ เมื่อสิ้นสุดสมัยประชุม ให้ประธานสภารวบรวม
แจ้งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตอบในราชกิจจานุเบกษาภายในสามสิบวัน (ข้อ 171 วรรคสอง ประกอบข้อ 165)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 133 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวกับหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยหรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา และมาตรา 256 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนมีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 เป็นกฎหมายที่บัญญัติหลักเกณฑ์ วิธีการ และกระบวนการในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรา 133 (3) มาตรา 256 (1) และมาตรา 258 ค. (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกำหนดบทบาทให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย ได้แก่ การจัดทำร่างกฎหมาย การเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย และการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 มาตรา 8 วรรคหก บัญญัติให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถยืนยันบุคล และตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องลงลายมือชื่อ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายผ่านทางระบบดังกล่าว กรณีที่ผู้เชิญชวนร้องขอให้สำนักงาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย โดยผู้เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่น ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ในรูปแบบกระดาษเช่นเดิม ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 มาเสนอต่อรัฐสภาซึ่งต้องใช้เอกสาร จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ชุด ต่อการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 1 ฉบับ หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ชุด ต่อการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1 ฉบับ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
โดยสำนักการประชุมร่วมกับสำนักสารสนเทศ ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (e-initiative) ในระยะที่ 1
ซึ่งสามารถยืนยันตัวบุคคล และตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องลงลายมือชื่อ
โดยเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ซึ่งผู้ใช้งานสามารถยืนยันตัวบุคคลเพื่อเข้าใช้งานระบบได้ใน 2 ช่องทาง คือ
1) ผ่านทาง application Thai D ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
2) ผ่านทางระบบตรวจสอบกับบัญชีของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (OTP)
การยืนยันตัวตนผ่านทาง application Thai D
ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
การเข้าสู่ระบบ (e-initiative) ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน Thai D ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
การยืนยันตัวตนเพื่อเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการนี้ ประชาชนจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai D
(ดาวน์โหลดได้จาก App Store หรือ Google Play) และทำการพิสูจน์ตัวตนตามขั้นตอนที่แอปพลิเคชันกำหนด
จึงจะสามารถยืนยันตัวตนเพื่อเข้าสู่ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-initiative) ได้
การยืนยันตัวตนผ่านทางระบบตรวจสอบ กับบัญชีของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (OTP)
การเข้าสู่ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-initiative) ด้วยการยืนยันตัวตน
ผ่านระบบ OTP ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร การยืนยันตัวตน เพื่อเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการนี้
ประชาชนสามารถที่จะลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง โดยกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน และทางระบบจะส่งรหัส OTP
ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้เพื่อให้ทำการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบต่อไป
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้นำระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (e-initiative)
ที่ได้พัฒนาแล้วเสร็จในระยะที่ 1 ออกใช้งานจริงผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายผ่านระบบดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา
(จนถึง ณ วันที่ 30 มกราคม 2566) โดยปัจจุบัน ได้เปิดให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายผ่านระบบดังกล่าวแล้ว จำนวน 8 ฉบับ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคสอง ได้กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ จะต้องมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องก่อนการตรากฎหมาย และทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย กล่าวคือ รัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตราพระราชบัญญัติทุกฉบับ
โดยปกติการเสนอร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอนั้น จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยหน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมาย แต่ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้น พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 20 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อาจมีมติ หรือตราข้อบังคับให้มีการรับฟังความคิดเห็น หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายก่อนหรือในระหว่างการพิจารณา เพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายนั้น ประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ก่อนการบรรจุระเบียบวาระการประชุม ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชน จะต้องผ่านการพิจารณาความจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ จึงมีหน้าที่และอำนาจในการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ออกประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติ ที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชน
การดำเนินการดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ และกำหนดให้การรับฟังความคิดเห็น ต้องจัดทำเป็นประเด็นการรับฟังความคิดเห็น และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติเมื่อมีการประกาศใช้บังคับ พร้อมทั้งดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
การเข้าสู่ระบบการรับฟังความคิดเห็น สามารถเข้าได้ผ่านทางเว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th และเลือกเมนูรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77
ปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติแล้ว
จำนวน 222 ฉบับ โดยแบ่งออกเป็น
(1) เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 191 ฉบับ
(2) เสนอโดยประชาชน จำนวน 31 ฉบับ
ทั้งนี้ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็น จำนวน 15 ฉบับ และปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว จำนวน 207 ฉบับ
(ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2566)