team-member





พระมหากษัตริย์ไทยกับการวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย



เชษฐา ทองยิ่ง   |   7 กรกฎาคม 2564

“...พระมหากษัตริย์ของไทยได้เตรียมการวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนเป็นอย่างดี เพื่อประชาชนจะได้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตย...”


หากจะเปรียบระบอบประชาธิปไตยของไทย คงเปรียบเสมือนกับช่วงอายุของผู้สูงอายุคนหนึ่ง ที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 89 ปี เผชิญเหตุการณ์มากมายทั้งที่เป็นปัญหาอุปสรรค และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและก้าวหน้าขึ้นมาตลอด แต่ย้อนเวลากลับไปก่อนที่จะมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ไทยทรงดำเนินพระบรมราโชบายสำหรับเตรียมการและวางรากฐานการปกครองอย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน เพื่อให้สอดคล้องสภาพการณ์ของสังคมไทยและกระแสแบบอย่างประเทศตะวันตกในขณะนั้น ถือเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน


ปฐมบทแห่งการสร้างประชาธิปไตย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยหรือสยามในขณะนั้นปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) โดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดเพียงผู้เดียว ซึ่งพระองค์ทรงตระหนักดีว่า ระบอบการปกครองแบบเดิมที่เป็นอยู่นี้นับวันจะล้าสมัย จำเป็น ที่จะต้องดำเนินการจัดการปกครองประเทศเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องสภาพการณ์ของสังคมไทยและกระแสการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แผ่ขยายไปทั่วโลกในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเห็นว่าประชาชนชาวไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีความสนใจในการปกครองบ้านเมืองไม่มากพอ จึงทรงดำเนินรัฐประศาสโนบายเพื่อเป็นการปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญ ได้แก่ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง Privy Council ทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาราชการในพระองค์ และ Council of State ทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาราชการต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องประโยชน์ต่อบ้านเมือง ทรงส่งพระบรมวงศานุวงศ์หรือพระราชทานทุนให้เด็กไทยไปศึกษายังประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในตะวันตก ทรงขยายโอกาสทางการศึกษา ประกาศเลิกทาส รวมทั้งปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนกลาง และกระจายอำนาจการบริหารปกครองให้ประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะริเริ่มให้จัดตั้งสุขาภิบาลเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อปูพื้นฐานประชาธิปไตยเบื้องต้นแก่ประชาชน

ด้วยพระราชดำริอันแน่วแน่ของพระองค์ที่ประสงค์จะให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ประธานเสนาบดีสภาขณะนั้น ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นฉบับหนึ่งจนแล้วเสร็จเพื่อพระราชทานแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ทรงมีพระราชดำริว่าจะเป็นการเหมาะสมกว่าถ้าพระราชโอรสของพระองค์เป็นผู้พระราชทาน ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งในปลายรัชสมัยว่า      “ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองในทันที่ที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ในขณะสืบตำแหน่งพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น”



ปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริไปในทางเดียวกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือ เห็นด้วยที่ประเทศไทยควรจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยทรงตระหนักดีว่า แม้แนวคิดและสิทธิทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยจะยังไม่เหมาะกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความรู้ความเข้าใจของประชาชนส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ก็ตาม แต่วันหนึ่งข้างหน้าการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะต้องเกิดขึ้นมาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างแน่แท้ จึงทรงว่าจะต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างเพียงพอเสียก่อน ทรงหันมาใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการปูพื้นฐานแก่ประชาชน โดยทรงตราพระราชบัญญัติการศึกษาขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการประชาธิปไตย รวมทั้งการสร้างความสำนึกร่วมทางชาตินิยม อาทิ ตั้งกองลูกเสือ ประพันธ์บทพระราชนิพนธ์ที่ปลุกให้ประชาชนคนไทยรักชาติบ้านเมืองให้มากขึ้น



นอกจากนี้ พระองค์ทรงปลูกฝังให้ประชาชนได้เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองตามครรลองประชาธิปไตย โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้น เพื่อเป็นเมืองทดลองให้ประชาชนได้รู้จักและเข้าใจการบริหารปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อจะได้นำมาใช้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ในโอกาสข้างหน้า ทั้งนี้ เมืองดุสิตธานีดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ดุสิตธานีจึงได้สลายตัวไป




เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองภายในประเทศ เป็นยุคสมัยที่กระแสแนวคิดประชาธิปไตยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้แพร่หลายและขยายวงกว้างขึ้น พระองค์ทรงเตรียมการปูพื้นฐานสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นเดียวกับพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเชษฐาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำริและเตรียมการเกี่ยวกับการนำพาประเทศเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ทรงตั้งสถาบันทางการเมืองขึ้นใหม่และปรับปรุงสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทรงจัดให้มีการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล
นอกจากนี้ โปรดเกล้าฯ ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ฉบับ เพื่อพิจารณาว่ามีความเหมาะสมกับสังคมและประชาชนมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะทำการพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยต่อไป
อย่างไรก็ตาม การพระราชทานรัฐธรรมนูญตามพระราชประสงค์นั้นมิได้เกิดขึ้น เนื่องจากคณะอภิรัฐมนตรีที่ทรงตั้งขึ้นมีความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพระราชทานแก่ประชาชนในขณะนั้น

ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ และยังไม่มีความพร้อมพอที่จะปกครองตนเองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ทำให้แนวพระราชดำริดังกล่าวระงับไป จนกระทั่งมีคณะบุคคลซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” ทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งการกระทำการของคณะราษฎรดังกล่าวตรงกับพระราชประสงค์และมีจุดมุ่งหมายเดียวกับพระองค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย พระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยจึงทรงยินยอมสละพระราชอำนาจซึ่งเป็นของพระองค์อยู่แต่เดิมให้ประชาชน และลดพระราชฐานะมาเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ


ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจ จะมีส่วนร่วมรักษาและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างไร

การวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยซึ่งเป็นเจ้าของพระราชอำนาจและทรงใช้พระราชอำนาจนั้นแบบเด็ดขาด ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ทรงพยายามวางพื้นฐานและสนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อนำมาสู่การปกครองรูปแบบใหม่ที่อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนในประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญจวบจนปัจจุบัน

เป็นข้อสังเกตว่า พระมหากษัตริย์ของไทยได้เตรียมการวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนเป็นอย่างดี เพื่อประชาชนจะได้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตย หากย้อนมาดูประเทศเราในปัจจุบัน ซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแล้วมากกว่า 89 ปี แต่กลับยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าที่ควร ยังขาดเสถียรภาพและความมั่นคง จะเห็นได้จากเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลอยู่เป็นระยะ มีการประกาศใช้และยกเลิกรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง ปัจจุบันใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ปัญหาทางการเมืองบางเรื่องก็มิอาจแก้ไขได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ดังนั้น หากต้องการขจัดปัญหาเพื่อให้การพัฒนาประชาธิปไตยมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น เราในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยควรหันมาร่วมกันเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง เพื่อให้ประชาชนรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง และผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นการใช้อำนาจของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนที่แท้จริง สมดังพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง 3 พระองค์



team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...