team-member





ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร



เชษฐา ทองยิ่ง   |   7 กรกฎาคม 2564

“...นับแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีบุคคลดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 8 คน คนแรก คือ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคนปัจจุบัน คือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย...”


การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พรรคการเมืองใดมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งในครั้งหนึ่ง ครั้งใดเป็นจำนวนมากที่สุด ถือว่ามีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคการเมืองเดียว หรือร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ในกรณีที่มีจำนวนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นมีไม่มากพอหรือไม่กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภา โดยจัดตั้งในรูปแบบของรัฐบาลผสมก็ได้

ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่มิได้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลและมีเสียงสนับสนุนข้างน้อยจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในฐานะฝ่ายค้าน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในซีกฝ่ายค้านหรือมิได้เข้าร่วมรัฐบาล ดำรงตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”






ความเป็นมาเกี่ยวกับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน

“ผู้นำฝ่ายค้าน” จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และมีเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น มักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีระบบสองพรรคหรือหลายพรรค ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นอย่างมาก เทียบเท่ากับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล สำหรับ ประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน โดยบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ในการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2517 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 64/2517 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2517 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่น่าสนใจ ดังนี้


นายวิกรม เมาลานนท์ กรรมาธิการ

“... แนวอันนี้จะว่ากันโดยตรงแล้วเรารับมาจากแนวของอังกฤษ อันที่จริงเราก็ปรึกษากันในคณะกรรมาธิการว่า แนวที่อังกฤษทำในเรื่องผู้นำฝ่ายค้านนี้ จริงอยู่ถึงแม้ของอังกฤษจะเกิดขึ้นมาโดยวิถีทางของธรรมเนียมประเพณีก็ตาม แต่รู้สึกว่าจะมีประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย เราจึงได้คิดกันขึ้นมา แล้วในที่สุด เราก็คิดว่าถ้าหากเราจะคอยให้มันเกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีขึ้นมาเอง มันก็คงจะต้องใช้เวลาอันยาวนานมาก เราก็ริเริ่มเขียนขึ้นมาในร่างรัฐธรรมนูญนี้...”

“...มีบางครั้งที่ผู้นำของประเทศสำคัญ ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องอยู่กับเมืองอังกฤษก็มาที่เมืองอังกฤษ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเขาจัดพิธีต้อนรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารค่ำที่คุยกับซุบซิบกันเพียงคนสองคน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นนโยบายสำคัญของประเทศของเขาทั้งสอง หรืออาจจะกระทบกระเทือนถึงความเป็นอยู่ของโลกด้วยนั้น... นายกรัฐมนตรีมักจะชวนหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเข้าไปนั่งรับรู้ไว้ด้วย อันนี้เป็นหลักการที่ว่านายกรัฐมนตรีเขาตระหนักดีว่า เขาไม่รู้ว่าพรรคของเขายืนยงคงกระพันเป็นรัฐบาลต่อไปหรือไม่ เขาก็ให้เกียรติพรรคฝ่ายค้านและเป็นการให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติของเขาด้วย... เผื่อเวลาต่อไปรัฐบาลแพ้เลือกตั้ง ฝ่ายค้านขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาล จะได้สานเรื่องต่อไปได้ถูก...”


นายจรูญ สุภาพ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

“...กระผมเชื่อว่า ถ้าพรรคฝ่ายนั้นมีศักดิ์ศรี มีฐานะขึ้นมาอย่างน้อยในสายตาของประชาชนและทางกฎหมายนั้น พรรคฝ่ายค้านก็จะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของประชาชน คือ จะเป็นเครื่องรั้งและถ่วงอำนาจพรรคฝ่ายรัฐบาลซึ่งอาจจะทำอะไรผิดพลาดไปก็ได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ อาจจะเป็นที่พึ่งของประชาชนในยามที่ประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนจะได้ปกครองตนเอง... น่าจะเป็นมาตรการซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้ระบอบประชาธิปไตยของเรานั้นก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง...”



บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2517 แล้ว ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไว้ ในมาตรา 126 ว่า

“...พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร...”

นับจากนั้นมา ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2521 และรัฐธรรมนูญ 2534 โดยมีบทบัญญัติระบุเกี่ยวกับคุณสมบัติและการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ ไว้ในลักษณะเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2517

ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 ได้แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีสมาชิกในพรรคน้อยกว่าหรือไม่ถึงหนึ่งในห้า หากได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน ก็สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ โดยเพิ่มในมาตรา 122 วรรคสอง ว่า

“ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนดไว้...ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร...”

ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน ก็ได้บัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไว้ในลักษณะเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2534 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2538



picture

picture

picture

picture

picture

picture

picture

picture

นับแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีบุคคลดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 8 คน คนแรก คือ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคนปัจจุบัน คือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย การแสดงบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ นอกจากจะเป็นผู้นำและตัวแทนของพรรคการเมืองฝ่ายค้านในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารของประเทศแล้ว ยังเป็นผู้ประสานแนวนโยบายโดยรวมของพรรคการเมืองฝ่ายค้านและควบคุมคะแนนเสียงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพของฝ่ายค้าน ในฐานะตัวแทนของประชาชนที่จะควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง




team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...