team-member





ชวเลข : หัวใจสำคัญของการประชุมรัฐสภา คุณค่าแห่งการอนุรักษ์



ซันวา สุดตา   |   11 สิงหาคม 2564

“...ชวเลข ถือเป็นหัวใจสำคัญของการประชุมรัฐสภา เกิดเคียงคู่มากับรัฐสภาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ผลผลิตสำคัญของการจดชวเลข คือ บันทึกการประชุมและรายงานการประชุม สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงและประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐสภา...”


จากกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์การสื่อสารและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในทางใด แต่มีสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่เลขานุการในที่ประชุมของรัฐสภาไทยมากว่า 89 ปี ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2475 จนปัจจุบัน คือ การจดบันทึกรายงานการประชุมด้วยชวเลข

ชวเลข หรือ Shorthand เป็นวิธีการเขียนข้อความอย่างย่อ โดยใช้สัญลักษณ์หรือคำย่อเพื่อแทนคำพูด เป็นการเขียนข้อความตามเสียงให้ทันคำพูดของผู้พูด โดยวิธีการลากปลายปากกาด้วยเส้นโค้งหรือขีด ตามเสียงที่พูด สามารถถอดข้อความคำพูดได้อย่างแม่นยำ ครบถ้วน และช่วยเพิ่มความเร็วในการจดบันทึกคำพูดนั้น



team-member



ความเป็นมาของชวเลข

“ชวเลข” เกิดขึ้นก่อนคริสตกาลประมาณ 63 ปี สมัยที่อาณาจักรโรมันรุ่งเรือง และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขณะนั้นมีนักการเมืองฝีปากเอกผู้หนึ่ง ชื่อ ซิเซโร (Cicero) เป็นผู้มีวาทะในการกล่าวปราศรัยที่จับใจผู้ฟัง จึงมีการคิดกันว่าหากมีการบันทึกหรือรวบรวมคำพูดของเขาไว้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในทางการเมืองและการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ของคนทั่วไป แทนที่จะปล่อยให้สูญหายไป มาร์คุส ตุลลิอุส ไทโร (Marcus Tulius Tiro) ซึ่งผู้รับใช้คนสนิทของไทโร เกิดความสนใจที่จะบันทึกคำพูดที่นายของเขาที่ปราศรัยต่อที่ชุมชนและอภิปรายในสภา ซึ่งเห็นว่า หากจะจดบันทึกคำพูดด้วยอักษรธรรมดานั้น คงไม่ทันแน่ ไทโรจึงใช้เริ่มประดิษฐ์คิดค้นเครื่องหมายต่าง ๆ ขึ้นแทนคำพูด จึงเป็นที่มาของชวเลขจนปัจจุบัน

“ชวเลข” ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบปิทแมน (Pitman) และแบบเกร็กก์ (Gregg) ทั้ง 2 แบบนี้เกิดขึ้นในอังกฤษ เรียกชื่อตามชื่อผู้ประดิษฐ์คิดค้น คือ เซอร์ ไอแซค ปิทแมน (Sri Isacc Pitman) และ จอห์น โรเบิร์ต เกร็กก์ (John Robert Gregg)



team-member

เซอร์ ไอแซค ปิทแมน (Sri Isacc Pitman)



team-member

จอห์น โรเบิร์ต เกร็กก์ (John Robert Gregg)



กำเนิดชวเลขในไทย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กระทรวงยุติธรรมสมัยนั้น ต้องการนักชวเลขเข้าจดคำให้การในศาลยุติธรรม จึงประกาศรับสมัครนักชวเลขเข้าทำงาน แต่ไม่มีผู้สมัครแม้แต่คนเดียว พระองค์จึงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “หากมีผู้ใดเขียนชวเลขได้และสามารถสอนนักเรียน จนสามารถเขียนชวเลขได้จนถึงขั้นเข้าจดคำให้การในศาลยุติธรรมได้ใน 1 ปี ไม่ต่ำกว่า 10 คน จะพระราชทานเงินรางวัล 10,000 บาท”

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนั้น ทรงรับอาสาโดยดัดแปลงชวเลขแบบปิทแมนภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยได้สำเร็จ และเริ่มสอนนักเรียนประมาณปลายปี พ.ศ. 2451 ถึงต้นปี พ.ศ. 2452 ภายในเวลา 8 เดือน สามารถสอนนักเรียนเขียนชวเลขได้นาทีละ 130 คำ จึงส่งเข้าสอบในศาลยุติธรรม ปรากฏสอบได้คราวนั้น 11 คน จึงได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานชวเลขในศาลยุติธรรม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นความสำคัญของวิชาชวเลข โดยให้นำชวเลขมาใช้จดพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และเทศนาเสือป่า ตลอดรัชกาลของพระองค์ ผู้เป็นนักชวเลขประจำพระองค์ คือ หลวงชวลักษณ์ลิขิต หรือดำเนิน จิตรกถึก ศิษย์ฝีมือเอกของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และเมื่อมีการเปิดโรงเรียนพาณิชยการขึ้น วิชาชวเลขแบบปิทแมนได้รับการบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย

สำหรับวิชาชวเลขแบบเกร็กก์ นำมาใช้ในไทย โดยหลวงมิตรธรรมพิทักษ์ หรือวงศ์ เศวตเลข ผู้แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ในขณะที่รับราชการกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นได้มีนำมาเผยแพร่และสอนตามโรงเรียนชวเลขและพิมพ์ดีดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร โดยบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนพาณิชยการเช่นเดียวกับวิชาชวเลขแบบปิทแมน

ต่อมาการใช้ชวเลขถูกลดความจำเป็นลงไป และเริ่มหายไปจากวงการหรืออาชีพต่าง ๆ ซึ่งสมัยก่อนเคยใช้ชวเลขกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่งานเลขานุการ ผู้สื่อข่าว ไปจนกระทั่งศาลยุติธรรม เนื่องจากมีการนำเอาเครื่องบันทึกเสียง คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาใช้งานแทนที่มากขึ้น เพราะสามารถเก็บรายละเอียดได้ทุกคำพูดเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง แต่ความจำเป็นดังกล่าวยังมีอยู่ในสถานที่แห่งเดียวในปัจจุบัน คือ รัฐสภาไทย


team-member

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร


team-member

นักชวเลขยุคแรกของรัฐสภา



การจดชวเลขในการประชุมสภา

ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเป็นครั้งแรกขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475

ในการประชุมสภานั้น จำเป็นต้องนำนักชวเลขมาจดบันทึกคำอภิปรายของสมาชิก เพื่อนำไปจัดทำบันทึกการประชุมและรายงานการประชุม ขณะนั้นสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีนักชวเลขเป็นของตนเอง จึงได้ขอยืมตัวหลวงชวเลขปรีชา และนายสิงห์ กลางวิสัย มาช่วยจดชวเลขไปพลางก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้น และมีงบประมาณเป็นของตนเองแล้ว จึงเริ่มบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพนักงานชวเลข หนึ่งในนั้น คือ นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานชวเลขชั้นรองผู้รักษาการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 เมื่อนายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นความสำคัญจำเป็นของการจดชวเลข จึงจัดให้มีการสอนวิชาชวเลขแก่ข้าราชการและผู้เข้าสมัครฝึกงานในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยมีพนักงานชวเลขเป็นผู้ฝึกสอน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน ฯ ได้เห็นความสำคัญและเส้นทางความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติงานด้านชวเลข โดยปรับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็นลำดับ จาก “เจ้าหน้าที่ชวเลข” เป็น “เจ้าพนักงานชวเลข” และเป็น “เจ้าพนักงานจัดทำรายงานการประชุม” สังกัดสำนักรายงานการประชุมและชวเลข ในปัจจุบัน


team-member


team-member



ปัจจุบันมีการนำอุปกรณ์สื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เครื่องบันทึกเสียงและคอมพิวเตอร์ มาเป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานมากขึ้น วิชาชวเลขจึงถูกมองว่าเป็นวิชาที่ล้าสมัย ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเหมือนที่ผ่านมา การเรียนการสอนตามสถาบันการศึกษาและการนำมาใช้ในงานด้านต่าง ๆ เริ่มลดน้อยลง คงมีเพียงรัฐสภาไทยที่ยังมีความจำเป็นต้องมีการจดชวเลขเพื่อจัดทำบันทึกประชุมและรายงานการประชุม และสนับสนุนภารกิจสำคัญ ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ได้แก่ การออกกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินฝ่ายบริหาร และการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่มีผลต่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อจะเก็บบันทึกเป็นหลักฐาน สำหรับศึกษาค้นคว้า อ้างอิง พัฒนากฎหมายและการดำเนินการของรัฐสภาและองค์กรอื่น ๆ ในโอกาสต่อไป


team-member


team-member



team-member



ชวเลข : คุณค่าแห่งการอนุรักษ์

“ชวเลข” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการประชุมรัฐสภา เกิดเคียงคู่มากับรัฐสภาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ผลผลิตสำคัญของการจดชวเลข คือ บันทึกการประชุมและรายงานการประชุม สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงและประโยชน์ ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐสภาในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย



แม้ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ แต่ตัวบุคคลผู้ที่ทำหน้าที่จดชวเลขผู้ทรงซึ่งคุณค่า และยังมีความสำคัญจำเป็นสำหรับการประชุมรัฐสภาและการประชุมอื่น ๆ ในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติของรัฐสภา ดังนั้น เราควรให้การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาให้บุคคลเหล่านี้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพและการปฏิบัติงาน ถึงเวลาแล้วที่ควรร่วมกันอนุรักษ์วิชาชวเลข และการจดชวเลขให้คงอยู่กับสังคมไทยและรัฐสภาไทยสืบไป



team-member

 


ภาพประกอบบางส่วนจาก : https://th.wikipedia.org

team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...