team-member





วันพิพิธภัณฑ์ไทย



พัทธนันท์ สัทธาพงษ์   |   6 กันยายน 2564

“...การเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ในมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย ทำให้พิพิธภัณฑ์รัฐสภาเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ตลอดจนเกิดการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์กับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน...”


พิพิธภัณฑสถาน หรือเรียกโดยย่อว่า พิพิธภัณฑ์ มีรากศัพท์มาจากคำว่า “พิพิธ” แปลว่า ต่าง ๆ “ภัณฑ์” แปลว่า สิ่งของ เครื่องใช้ และ “สถาน” แปลว่า ที่ตั้งหรือแหล่ง ซึ่งราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายของ “พิพิธภัณฑ์” ว่าหมายถึง “สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ”



team-member

หอคองคอเดีย



team-member

การจัดแสดง "เอ็กซิบิชัน" (Exhibition) ณ ท้องสนามหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 5



ประวัติวันพิพิธภัณฑ์ไทย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งราชฤดี ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาให้ย้ายวัตถุจัดแสดงจากพระที่นั่งราชฤดีมาไว้ที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นอาคารใหม่ที่ใหญ่กว่า ทรงเรียกว่า “The Royal Museum”

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุจัดแสดงทั้งหมดจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์มาไว้ที่ “หอคองคอเดีย” (ศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) เรียกว่า “Royal Siamese Museum” หรือ “มิวเซียมหลวง” โดยมีพิธีเปิด เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ถือเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ผู้ดูแลกิจการมิวเซียมหลวง ณ หอคองคอเดีย คือกรมทหารมหาดเล็ก กระทรวงวัง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอมิวเซียมหลวงมาอยู่บนพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าบางส่วน แล้วยกฐานะเป็น “กรมพิพิธภัณฑ์” ขึ้นกับกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ดำเนินงานกิจการพิพิธภัณฑสถานอย่างเป็นระบบตามหลักสากล

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงดำรงสิริราชสมบัติ ได้พระราชทานพื้นที่ทั้งหมดของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ให้เป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน) นับเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจการพิพิธภัณฑสถานครั้งสำคัญ จากเดิมเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป มาเป็นพิพิธภัณฑสถานที่รวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ทรงให้การสนับสนุนการดำเนินงานพิพิธภัณฑสถานให้เป็นไปตามแนวทางสากลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นแนวทางการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานไทยในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปี เป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย” กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์ ได้กำหนดให้มีกิจกรรมเนื่องในโอกาสดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อเผยแพร่กิจการพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย และช่วยกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักในบทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้สำคัญของชาติ



team-member

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2469



กิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์ไทย

เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย พิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพิพิธภัณฑ์วัด ชุมชนท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ได้จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเผยแพร่กิจการพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก ช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รูปแบบกิจกรรมที่จัดขึ้น อาทิ การจัดเสวนาทางวิชาการ การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาและการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เข้าร่วมกิจกรรมและชมความก้าวหน้าของกิจการพิพิธภัณฑ์ไทย

ในปี พ.ศ. 2559 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันพิพิธภัณฑ์ไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้กรอบแนวคิด “เราจะร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์ไทยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต” โดยใช้ชื่อว่า “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2559 อัศจรรย์พิพิธภัณฑ์ไทย” (Thailand Museum Expo 2016 – Amazing Thai Museums) ซึ่งประกอบด้วย การจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ของดีมีมาอวด” การเสวนาวิชาการ และการออกร้านแสดงผลงานและนวัตกรรมด้านพิพิธภัณฑ์

ในปี พ.ศ. 2560 และ 2561 งานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทยมิได้มีการจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนปี พ.ศ. 2559 แต่ได้ปรับรูปแบบเป็นการจัดประชุมสัมมนาวิชาการในหมู่เครือข่ายพิพิธภัณฑ์และผู้ประกอบธุรกิจด้านพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากอยู่ในช่วงการบำเพ็ญพระราชกุศลและพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ในปี พ.ศ. 2562 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดกิจกรรม “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562” (Museum Expo 2019) ภายใต้กรอบแนวคิด “ประชาคมพิพิธภัณฑ์ไทย” เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (ICOM) ประจำปี พ.ศ. 2562 ที่ว่า “พิพิธภัณฑ์เสมือนศูนย์กลางวัฒนธรรมสัมพันธ์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Museum as Cultural Hubs : The Future of Tradition)

ในปี พ.ศ. 2563 เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทยและในโอกาสครบรอบ “146 ปี กิจการพิพิธภัณฑ์ไทย” มีการจัดกิจกรรมขึ้นภายใต้แนวคิด “พิพิธภัณฑ์เข้าถึงได้ สนุก และทันสมัย” (Learning by Playing) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย

สำหรับปี พ.ศ. 2564 สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้กำหนดจัด "มหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2564: Thailand Museum Expo 2021" ในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก บนแพลตฟอร์มของกรมศิลปากร ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2564


team-member



พิพิธภัณฑ์รัฐสภากับกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์ไทย

พิพิธภัณฑ์รัฐสภาได้เข้าร่วมกิจกรรม “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย หรือ Museum Expo” เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย โดยการร่วมจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่บทบาทและภารกิจของรัฐสภาในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ และการดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์ของรัฐสภา รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับพิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมจัดกิจกรรม ในปี พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2562

ปี พ.ศ. 2559 พิพิธภัณฑ์รัฐสภาเข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 16-21 กันยายน 2559 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ ในชื่อว่า “มองย้อนรัฐธรรมนูญไทย” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของรัฐธรรมนูญไทยและธรรมเนียมการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย รวมทั้งเรื่องราวงานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมฉลองสิ่งใหม่ ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย”

นอกจากนี้ ยังได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ฉบับสมุดไทย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงลงพระปรมาภิไธย ในนิทรรศการพิเศษ “ของดีมีมาอวด” ด้วย



ปี พ.ศ. 2562 พิพิธภัณฑ์รัฐสภาเข้าร่วมจัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน 2562 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการในชื่อว่า “รู้จักรัฐสภาและพิพิธภัณฑ์รัฐสภา” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของรัฐสภาในฐานะองค์กรนิติบัญญัติของประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อสะท้อนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

นอกจากนี้ ยังเผยแพร่บทบาทภารกิจของพิพิธภัณฑ์รัฐสภา เพื่อให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้น โดยนำเอกสารจดหมายเหตุชุดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2477 มาจัดแสดงให้สอดคล้องกับกระบวนการออกกฎหมาย เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการด้านพิพิธภัณฑ์ของไทย



การเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ในมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย ทำให้พิพิธภัณฑ์รัฐสภาเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ตลอดจนเกิดการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์ กับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน วัด สถาบันการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการดำเนินการด้านพิพิธภัณฑ์ต่อไป

 


ภาพบางส่วนจากเว็บไซต์สารานุกรมไทย

team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...