team-member





ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร



ซันวา สุดตา   |   14 กุมภาพันธ์ 2565

“...คำว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” และคำว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)” จึงมีความหมายที่ใกล้เคียงกันในลักษณะที่ว่าเป็นฉบับชั่วคราว เพื่อรอการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรบังคับใช้แทน...”


นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยมีพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในจำนวนรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับนี้ มิได้มีชื่อเรียกแบบเดียวกันหมด ขึ้นอยู่กับการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญที่ได้มาโดยวิถีทางการจัดทำและยกร่างตามครรลองของประชาธิปไตยหรือผ่านกระบวนการด้านนิติบัญญัติ เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” และที่ได้มาโดยวิถีทางแห่งการปฏิวัติหรือรัฐประหารนั้น เรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” หรือ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” หรือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว” เป็นต้น แล้วแต่กรณี

คณิณ บุณสุวรรณ ได้ให้ความหมายของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ไว้ว่า “เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศชั่วคราวในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยไม่ใช่วิถีทางของการปกครองระบอบประชาธิปไตย...” และจากรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ มีรัฐธรรมนูญภายใต้ชื่อว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” รวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534



team-member


ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 เกิดขึ้นจากคณะรัฐประหาร ภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่างขึ้นและประกาศใช้ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 โดยมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สั้นที่สุด กล่าวคือ มีบทบัญญัติเพียง 20 มาตรา และที่พิเศษคือบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 17 กล่าวคือ จะสั่งการหรือดำเนินการใด ๆ ก็ได้ เช่น เพิ่มโทษ เปลี่ยนโทษ แต่งตั้งความผิด กำหนดโทษขึ้นใหม่ ด้วยเหตุผลเพื่อประโยชน์ในการระงับและปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่ได้ใช้บังคับเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ซึ่งยาวนานนานกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรบางฉบับด้วย จนกระทั่งถูกยกเลิกไป เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511



team-member


ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 เกิดขึ้นจากคณะรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และได้นำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2515 มาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 ซึ่งเป็นการนำเอาธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มาแก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยมีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้นเพียง 23 มาตรา และที่สำคัญคือ ได้นำเอาอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 17 เดิมแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มาบัญญัติไว้ด้วย ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ มีอายุการใช้บังคับเพียง 1 ปี 9 เดือน 21 วัน จึงถูกยกเลิกไป เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517





team-member



ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 เกิดขึ้นจากคณะรัฐประหารภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่งจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2520 ซึ่งได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 จากนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 โดยพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ ยังคงกำหนดให้อำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 27 และมีอายุการใช้บังคับเพียง 1 ปี 1 เดือน 13 วัน ก็สิ้นสุดลง เนื่องจากผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521







team-member


ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 เกิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และได้นำรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญปกครองประเทศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 โดยมีพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ มีบทบัญญัติ 33 มาตรา และมีอายุการใช้บังคับเพียง 9 เดือน 8 วัน จึงถูกยกเลิกไป เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534




ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร

แม้ว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” จะแสดงสถานะความเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็จริง แต่หลาย ๆ กรณีพบว่า มีการใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” และกำกับด้วยคำว่า “ฉบับชั่วคราว” ต่อท้ายด้วย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นต้น ดังนั้น คำว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” และคำว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)” จึงมีความหมายที่ใกล้เคียงกันในลักษณะที่ว่าเป็นฉบับชั่วคราว เพื่อรอการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรบังคับใช้แทน กล่าวคือ เมื่อคณะรัฐประหารทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ต่อมาได้มีการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมาบังคับใช้ เพื่อรองรับหลักการที่ว่า “รัฐจะต้องมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินหรือรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมของอำนาจรัฐที่ตนยึดมาได้” แม้ว่าจะเป็นเพียงฉบับชั่วคราวก็ตาม และเมื่อคณะรัฐประหารได้ควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินให้มีความมั่นคงเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มกระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นใหม่ โดยการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้วแต่คณะรัฐประหารในแต่ละครั้งจะเห็นสมควรว่าจะเรียกชื่อใด



team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...