28 มิถุนายน...กำเนิดรัฐสภาไทย


28 มิถุนายน 2564


ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ประเทศไทย (สยาม) ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมา ประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่เรียกว่า “ผู้แทนราษฎร” ทำหน้าที่ใช้สิทธิออกเสียงในการบริหารปกครองบ้านเมืองแทนประชาชน

เวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดห้องประชุมเป็นลักษณะครึ่งวงกลมตามระนาบพื้นห้อง การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อ่านรายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 70 คน และเป็นผู้กล่าวนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุม จากนั้น เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านเปิดประชุม เสร็จแล้วจึงได้ดำเนินการประชุมต่อไป จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อกำเนิดของรัฐสภาไทยมาจนถึงทุกวันนี้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนั้น ที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเห็นชอบให้หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก รวมทั้งมีมติเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกันด้วย

แม้จะล่วงเลยผ่านตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา รัฐสภาชุดต่าง ๆ ยังคงทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชน โดยออกกฎหมายมาใช้บังคับในสังคม ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศ รวมทั้งแสดงบทบาทในฐานะผู้แทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ และเป็นสิทธิเป็นเสียงแทนประชาชนทั้งประเทศต่อเนื่องตลอดมา

จากวันนั้น...ถึงวันนี้...เป็นระยะเวลา 89 ปี ที่รัฐสภาได้เกิดขึ้นเคียงคู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสมาชิกรัฐสภาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ รวม 25 ชุด มีประธานรัฐสภาทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและดูแลการบริหารราชการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพ รวม 31 คน มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นกลไกหลัก ในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร รวม 8 คน รวมทั้งได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกับคณะรัฐมนตรี รวม 52 คณะ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี รวม 29 คน

ตัวเลขเหล่านี้ ย่อมบ่งบอกถึงการผ่านร้อนผ่านหนาว สั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ประโยชน์แก่บ้านเมืองมาเป็นระยะเวลาพอสมควร เผชิญเหตุการณ์มากมายทั้งที่เป็นปัญหาอุปสรรค และส่งเสริมสนับสนุนต่อวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เข้มแข็ง พัฒนาและก้าวหน้าขึ้น

ในโอกาสครบรอบ 89 ปี การสถาปนารัฐสภาไทย พิพิธภัณฑ์รัฐสภา สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอรำลึกถึงเหตุการณ์และบุคคลต่าง ๆ ในอดีตถึงปัจจุบัน ที่ได้มีส่วนร่วมในการสรรสร้างประวัติศาสตร์ของการเมืองการปกครองไทย ผ่านผู้แทนราษฎรชุดต่อชุด เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศ สมดังพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกว่า

“วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกันปรึกษาการงาน เพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันทุกประการ เทอญ”