รูปแบบรัฐสภาไทย พ.ศ. 2475-ปัจจุบัน


28 มิถุนายน 2564


ตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี 2475 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐสภาเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของประชาชนในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบกับประเทศชาติและประชาชน โดยการกำหนดรูปแบบของรัฐสภาไทยที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น “สภาเดียว” หรือ “สภาคู่” ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับและสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งในความเป็นรูปแบบสภาเดียวหรือสภาคู่นั้น บางช่วงเวลาก็มีทั้งเป็นสภาที่มีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด หรือมาจากการแต่งตั้งรวมกับที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่ว่ารูปแบบของรัฐสภาจะเป็นแบบใด บทบาทการทำหน้าที่ของรัฐสภาก็ยังคงไว้เช่นเดิม แม้ว่าการเป็นสภาเดียวทำให้การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่อาจจะขาดความรอบคอบ ส่วนการเป็นสภาคู่ก็มีผลให้การพิจารณากลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ เป็นไปด้วยความรอบคอบขึ้น

สภาเดียว : จะมีชื่อเรียกของสภาแตกต่างกันไป คือ สภาผู้แทนราษฎร ช่วงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 และปี 2495 หรือในบางช่วงเวลามีการตั้งสภาที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นให้มาทำหน้าที่รัฐสภา ส่วนใหญ่ตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2502 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2515, 2516, 2520, 2534, 2549, 2557 และสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปี 2519

สภาคู่ : รูปแบบสภาคู่เริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2489 ที่กำหนดให้รัฐสภา ประกอบด้วย พฤฒสภาและสภาผู้แทน ต่อมารัฐธรรมนูญ 2490 ได้เปลี่ยนชื่อเรียก "พฤฒสภา" มาเป็น "วุฒิสภา" จนปัจจุบัน ส่วน "สภาผู้แทน" บางช่วงใช้คำว่า "สภาผู้แทนราษฎร"

ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐสภาเป็นแบบสภาคู่ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แบ่งเป็น แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน

วุฒิสภา ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม
(ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภามีสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยอายุของวุฒิสภาชุดนี้มีกำหนด 5 ปี)