เปลี่ยนผ่านอาคารรัฐสภาไทย


28 มิถุนายน 2564


พระที่นั่งอนันตสมาคม : อาคารรัฐสภาแห่งแรก (พ.ศ. 2475 - 2517)


พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2450 ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมืองและใช้สำหรับประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง นายมาริโอ ตามาโย สถาปนิกชาวอิตาลีเป็นนายช่างออกแบบ และศาสตราจารย์ แกลิเลโอ คินี และนายซี. ริกุลี เป็นช่างเขียนภาพ




องค์พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างด้วยหินอ่อนจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี เป็นอาคาร 2 ชั้น มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็ก ๆ โดยรอบอีก 6 โดม ชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ แบ่งเป็น ท้องพระโรงหน้าและท้องพระโรงหลัง บนเพดานโดมของพระที่นั่ง มีภาพเขียนขนาดใหญ่ จำนวน 6 ภาพ แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 ได้แก่


  เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมร

  เพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปถัมภ์งานศิลปะ

  เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วยพระภิกษุ และนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่าง ๆ แสดงนัยแห่งพระราชจรรยาที่ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา

  เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยทาน และทรงเลิกประเพณีทาส

  เพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อปี พ.ศ. 2454

  เพดานโดมกลาง เป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากใต้โดม ตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกับ “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อาคารรัฐสภาแห่งแรก


เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ได้บัญญัติให้มีสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยผู้แทนราษฎรชั่วคราว จำนวน 70 คน และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 โดยใช้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุม จึงถือว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นอาคารรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย

พระที่นั่งอนันตสมาคม นอกจากใช้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ในบางช่วงเวลา อาทิ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 กำหนดให้รัฐสภาไทยเป็นแบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนและพฤฒสภา จึงกำหนดให้ใช้พระที่นั่งอภิเษกดุสิตภายในพระราชวังดุสิตเป็นที่ประชุมของพฤฒสภาอีกแห่งหนึ่ง และใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภาตามเดิมในเวลาต่อมา เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 แล้วได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมเพียงแห่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา โดยจัดให้มีการประชุมต่างเวลากัน

เมื่อสมาชิกรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้พระที่นั่งอนันตสมาคมคับแคบไป และจำเป็นต้องมีที่ทำการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภาที่เพิ่มขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่หลายช่วงเวลา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งมาสำเร็จในสมัยรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร โดยเริ่มก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ถนนอู่ทองใน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2513 เมื่อสร้างเสร็จได้เปิดใช้ประชุมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2517 รวมระยะเวลาการใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ประชุม และที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา รวมทั้งสิ้น 42 ปี

พระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เป็นสถานที่ประชุมครั้งสุดท้าย ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 ครั้งที่ 66 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2517 เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 อย่างไรก็ตาม หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ซึ่งบัญญัติให้มีสองสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้มีการกลับไปใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ประชุมของวุฒิสภาเป็นการชั่วคราว ในกรณีที่สภาทั้งสองจัดให้มีประชุมในเวลาเดียวกัน

สถานที่ประกอบพระราชพิธีและรัฐพิธีสำคัญ ๆ


พระที่นั่งอนันตสมาคมถือเป็นสถานที่สำคัญของไทย นอกจากใช้เป็นสถานที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ยังเคยใช้เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แม้ต่อมาได้ย้ายสถานที่ประชุมและที่ทำการมายังอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองในที่สร้างขึ้นไม่แล้ว แต่รัฐสภาก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมในการประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา และพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกวันที่ 10 ธันวาคม เรื่อยมา

นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ใช้เป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งมีพระราชอาคันตุกะ จาก 25 ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเข้าร่วมงาน พระราชพิธีครั้งนั้นนับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่าง ๆ ของโลก และเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ใช้ประกอบพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน) หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชอิสริยยศขณะนั้น




อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน : อาคารรัฐสภาแห่งที่สอง (พ.ศ. 2517 - 2561)


การใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมสภาและที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการสภามาระยะหนึ่ง พบว่าพระที่นั่งฯ ไม่สามารถขยายและปรับปรุงให้รองรับการประชุมที่มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาในเรื่องของระบบเสียงและระบบการถ่ายเทอากาศ การที่จะปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นจะส่งผลให้เกิดความคับแคบและลดความสง่างามของพระที่นั่งฯ ไป ประกอบกับเหตุผลอื่นอีกหลายประการ เช่น ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับเป็นห้องประชุมกรรมาธิการ ห้องทำงานของสมาชิก ห้องสมุด ห้องพักของคณะรัฐมนตรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานเลขาธิการรัฐสภานั้นยังทำงานแยกย้ายกันอยู่ โดยใช้อาคารที่ได้รับความอนุเคราะห์ จากสำนักพระราชวัง 5 หลัง เป็นสถานที่ทำงาน จึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีลักษณะถาวรเป็นของตัวเองเป็นระยะต่อเนื่องมา เริ่มจากปี พ.ศ. 2481 แต่แนวคิดดังกล่าวมิได้นำไปสู่การดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด

ในระยะต่อมาได้มีข้อเสนอให้ใช้ที่ดินทางทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภา เมื่อคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้วมีมติเห็นชอบ จากนั้นจึงนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าว และได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระราชทาน ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2512 และอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง กำหนดให้แล้วเสร็จประมาณ 3 ปี จากนั้นได้มีการประกวดราคาก่อสร้างอาคารรัฐสภา ปรากฏว่า บริษัท พระนครก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาก่อสร้างต่ำสุด จึงได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2513 เป็นเงิน 51,127,361 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายใน 851 วันนับแต่วันลงนามในสัญญา


ก่อสร้างอาคารรัฐสภา 1

การก่อสร้างอาคารรัฐสภานั้นมีเจตนาสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นอาคารที่มีอุปกรณ์ทันสมัย สามารถอำนวยความสะดวกแก่กิจการของสภาได้โดยสมบูรณ์ และสมาชิกสภาสามารถใช้สถานที่ปฏิบัติกิจการในหน้าที่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ดังนี้

อาคารหลังที่ 1 เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา แบ่งออกเป็น 3 ชั้น
ชั้นที่ 1 เป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ ใช้เป็นที่ติดต่องานทั่วไปกับสมาชิกและบุคคลภายนอก
ชั้นที่ 2 เป็นห้องประชุมสภา สามารถจัดให้สมาชิกเข้าร่วมประชุมได้ถึง 451 คน มีที่ให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าฟังการประชุมได้ไม่น้อยกว่า 211 คน
ชั้นที่ 3 เป็นห้องประชุมกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยจัดแบ่งเป็นห้อง ๆ ที่มีขนาดเล็กและใหญ่ตามความต้องการอย่างเพียงพอ

อาคารหลังที่ 2 เป็นอาคาร 7 ชั้น ชั้นล่างเป็นโรงพิมพ์ของรัฐสภา ต่อจากนั้นจัดเป็นห้องรับรอง ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ของรัฐสภา รวมทั้งห้องทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

อาคารหลังที่ 3 เป็นสโมสรรัฐสภา สูง 2 ชั้น เพื่อให้บริการแก่สมาชิกเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม

นอกจากอาคารหลักทั้ง 3 หลังแล้ว ยังมีการก่อสร้างอาคารอื่น ๆ อีก 3 หลัง สำหรับเป็นที่รับรองแขกของสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งคราว เป็นที่เก็บยานพาหนะ และเป็นกองรักษาการณ์

ในปี พ.ศ. 2517 ได้มีการย้ายที่ประชุมจากพระที่นั่งอนันตสมาคมมายังอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน ที่สร้างขึ้นใหม่ โดยใช้อาคารรัฐสภาใหม่เป็นครั้งแรก ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 ครั้งที่ 67 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2517


ก่อสร้างอาคารรัฐสภา 2

เมื่อระยะเวลาผ่านไป รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาเป็นแบบสองสภา ส่งผลให้สมาชิกรัฐสภามีจำนวนมากขึ้น ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสภามีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อสนับสนุนและรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกทั้งสองสภาให้เพียงพอและทั่วถึง ทำให้พื้นที่เดิมของอาคารรัฐสภาที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2517 โดยเฉพาะอาคารรัฐสภา 1 ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น และอาคารรัฐสภา 3 ซึ่งเป็นอาคาร 7 ชั้น ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จึงมีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาเพิ่มเติม ได้แก่ อาคารรัฐสภา 2 เป็นอาคารสูง 3 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และห้องประชุมคณะกรรมาธิการของทั้งสองสภา โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2533 มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2534 ใช้งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 270,000,000 บาท


ห้องประชุมรัฐสภา

ห้องประชุมรัฐสภาอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เปิดใช้สำหรับการประชุมครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยขณะนั้นจำนวนสมาชิกยังมีไม่มากนัก ต่อมารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับบัญญัติให้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงต้องดำเนินการปรับปรุงภายในห้องประชุมรัฐสภาให้มีจำนวนที่นั่งเพียงพอกับจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรองรับความทันสมัยด้านระบบเทคโนโลยี ระบบภาพ และระบบเสียงภายในห้องประชุม ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้งานมากขึ้น

ตลอดระยะเวลากว่า 44 ปี (พ.ศ. 2517 - 2561) อาคารรัฐสภาแห่งนี้ได้ใช้เป็นสถานที่ประชุม เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน การประชุมคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการของแต่ละสภา รวมทั้งการประชุมเพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และการประชุมเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา นอกจากใช้ในการประชุมดังกล่าวแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญ ๆ ของรัฐสภาและสำนักงานเลขาธิการของทั้งสองสภาด้วย

นอกจากนี้ รัฐสภายังเป็นสถานที่เชื่อมโยงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมการ มีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชน อาทิ เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อกันยื่นเสนอกฎหมายต่อรัฐสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือยื่นข้อร้องเรียนหรือปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข หรือแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาดูงานและเยี่ยมชมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการดำเนินงานของรัฐสภา


การส่งคืนพื้นที่ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ภายหลังการเปิดอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เป็นสถานที่ประชุมและสถานที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มาเป็นระยะเวลากว่า 44 ปี ซึ่งจะต้องย้ายที่ประชุมและที่ทำการไปยังอาคารรัฐสภาที่สร้างขึ้นใหม่ บริเวณแยกเกียกกาย ถนนสามเสน เขตดุสิต หรือที่เรียกว่า “สัปปายะสภาสถาน” รัฐสภาเตรียมการส่งมอบพื้นที่คืนให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยดำเนินการจัด Big Cleaning Day เพื่อทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ทั้งหมดของอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 และเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 มีพิธีบวงสรวงเพื่ออัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ประดิษฐานอยู่ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ด้านหน้าอาคารรัฐสภา 1 เพื่อนำไปบูรณะซ่อมแซม ณ สำนักช่างสิบหมู่ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พร้อมกันนี้ ได้อันเชิญพระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระชัยเทวาธิราช ณ ศาลาพระสยามเทวาธิราช ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารสโมสรรัฐสภา ไปประดิษฐาน ณ ห้องพระรัฐสภา ก่อนอัญเชิญไปยังอาคารรัฐสภา ถนนสามเสน




สัปปายะสภาสถาน : อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)


ในขณะที่ใช้อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เป็นสถานที่ประชุมและที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ภารกิจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้น จำนวนสมาชิกของสภาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามสัดส่วนจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของสมาชิกและบุคคลดังกล่าวให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความไม่สะดวกในเรื่องสถานที่จอดรถและการมาติดต่อราชการหรือชี้แจงของหน่วยงานภายนอกได้ ทำให้หลายปีที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการทั้งสองสภาแก้ไขปัญหา โดยการจัดหาและเช่าสถานที่ทำงานสำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมหลายแห่ง จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาต้องแยกกันปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแต่ละสถานที่ อันเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการบริหารจัดการและการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงบุคคลที่มาติดต่อราชการ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้นอีกครั้ง


จัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

เริ่มจากการพิจารณาจัดหาสถานที่ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด ซึ่งใช้เวลาอยู่หลายปี จนกระทั่งเริ่มมีความชัดเจนขึ้นในปี พ.ศ. 2551 สมัยนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อหารือเรื่องการหาพื้นที่และงบประมาณในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาพื้นที่ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
1. พื้นที่ที่ดินราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
2. พื้นที่ที่ดินราชพัสดุ กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก จังหวัดนนทบุรี
3. พื้นที่ที่ดินบริเวณคลังเชื้อเพลิง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

หลังจากคณะกรรมการได้พิจารณาศึกษาถึงความเหมาะสมของสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งข้อดีและข้อเสียข้อจำกัดและความเหมาะสมของพื้นที่ในด้านต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คมนาคมและสาธารณูปโภคแล้ว ประกอบกับผลการศึกษาของคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปได้ว่า พื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นแกนของเมืองที่มีความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 และได้ขยายเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยการก่อสร้างถนนราชดำเนินไปสิ้นสุดที่พระบรมรูปทรงม้า ต่อเนื่องถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ประชุมรัฐสภาครั้งแรกและเชื่อต่อมายังอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน ดังนั้น จึงได้มีมติเลือกบริเวณที่ดินราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) แปลงริมน้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 119 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือที่เรียกว่า “สัปปายะสภาสถาน” แปลว่า สภาแห่งความสงบร่มเย็นและปัญญา

วันที่ 2 ธันวาคม 2552 คณะกรรมการตัดสินประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และอาคารประกอบ ได้พิจารณาตัดสินการประกวดแบบ โดยรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดของแบบจากผู้ผ่านการคัดเลือกประกวดแบบ จำนวน 5 ราย และคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาจากเกณฑ์การตัดสินแล้ว ปรากฏผู้ชนะการประกวดแบบ คือ ทีมสงบ 1051

วันที่ 12 สิงหาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภา ณ พื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายปราโมชย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา รักษาการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เฝ้ารับเสด็จฯ

วันที่ 11 กรกฎาคม 2554 คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติในการประกวดผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ปรากฏว่า บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะได้รับเลือกให้เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ

วันที่ 8 มิถุนายน 2556 บริษัทชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มวางเสาเข็มและดำเนินการก่อสร้าง

วันที่ 5 สิงหาคม 2562 ได้มีการเปิดใช้ห้องประชุมพระจันทราเป็นครั้งแรก โดยห้องประชุมนี้ใช้สำหรับการประชุมของวุฒิสภา สามารถรองรับได้ จำนวน 600 ที่นั่ง บริเวณชั้นล่าง 350 ที่นั่ง ชั้นบน 250 ที่นั่ง

วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ในโอกาสเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ได้มีการเปิดใช้ห้องประชุมพระสุริยันเป็นครั้งแรก โดยห้องประชุมนี้ ใช้สำหรับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา ซึ่งสามารถรองรับได้ จำนวน 800 ที่นั่ง และที่นั่งคณะรัฐมนตรี จำนวน 59 ที่นั่ง

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ สัปปายะสภาสถาน มีรูปแบบอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ลักษณะเป็นอาคารสูง 9 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น รวม 11 ชั้น การตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบอาคารสมัยใหม่ ซึ่งคำนึงถึงระบบการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ต้องสอดประสานกันตามบทบาทหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญ มีห้องประชุมสภาเป็นรูปทรงครึ่งวงกลม 2 ห้อง คือห้องประชุมพระสุริยัน สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและเป็นการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา และห้องประชุมพระจันทรา สำหรับการประชุมวุฒิสภา


เป้าหมายที่สำคัญ 9 เรื่อง ในการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่


เรื่องอุดมคติ 5 เรื่อง ประกอบด้วย

อุดมคติเรื่องที่ 1 ชาติ รัฐสภาต้องสง่างามแสดงถึงศักดิ์ศรีและมีคุณค่าอย่างไทย เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เจริญขึ้น จากรากเหง้าของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย เป็นการสืบสานทั้งศิลปะ วัฒนธรรม คติความเชื่อ และภูมิปัญญาจากอดีตเชื่อมโยงมาจนถึงปัจจุบัน

อุดมคติเรื่องที่ 2 ศีลธรรม ปัญหาการแสดงความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างกันของคนในสังคมปัจจุบัน รัฐสภาจึงเป็นศูนย์รวมแห่งความหวังของประชาชนและสังคมทั่วไป โดยให้อาคารรัฐสภาเป็นสัปปายะของบ้านเมือง กล่าวคือ เป็นสถานที่แห่งปัญญา เป็นศูนย์รวมจิตใจและการมีส่วนร่วมกันของคนทั้งชาติ รวมทั้งเป็นสภาที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหลักของบ้านเมืองในเรื่องศีลธรรม คุณธรรม และการปกครองโดยธรรม

อุดมคติเรื่องที่ 3 สติปัญญา รัฐสภาแห่งใหม่จะเป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้และสติปัญญาของบุคคลภายในชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญต่อไป โดยเฉพาะเรื่องความเป็นชาติ เพื่อสืบสานความเป็นไทยไปสู่สังคมโลก

อุดมคติเรื่องที่ 4 สถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศไทยมีศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญสูงสุดที่ทำให้แตกต่างจากชาติอื่น ๆ ในโลก คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จึงให้ความสำคัญกับลำดับของพื้นที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการประกอบรัฐพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุม ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ที่สมพระเกียรติโดยอยู่ในสถานที่อันควรและเหมาะสม

อุดมคติเรื่องที่ 5 ประชาชน อาคารรัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย แนวคิดในการออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ จึงให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกระดับ เพราะประชาชนอยู่ในฐานะที่สำคัญในทุกภาคส่วน


เรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพ 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1. ประโยชน์ใช้สอย โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอยของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่าเทียมกัน ด้วยการสร้างแกนที่เป็นพื้นที่หัวใจในการเชื่อมโยงสองส่วนเข้าด้วยกัน และส่วนสนับสนุนอยู่รอบ ๆ

2. อาคารเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมและประหยัดพลังงาน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่เป็นตัวอย่างสำคัญของประเทศ

3. อาคารแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม โดยให้ความสะดวกแก่ผู้พิการ เด็กและผู้สูงอายุ

4 ระบบรักษาความปลอดภัยและความปลอดภัยจากเพลิงใหม่ มีการออกแบบเพื่อเตรียมรับสถานการณ์และวินาศภัยทุกรูปแบบ ทั้งระบบผัง การวางระบบและเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานสูง โดยใช้มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ