
พิพิธภัณฑ์สัญจร ณ โรงเรียนวิเศษไชยชาญ “ตันติวิทยาภูมิ” จ. อ่างทอง
เผยแพร่ : 30 / ธันวาคม / 2563
1. ความเป็นมา
โครงการจัดนิทรรศการและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของพิพิธภัณฑ์ ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2563 จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย
ความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาและรัฐธรรมนูญไปยังกลุ่มเป้าหมายในเชิงรุก ในรูปของการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ
2. วัตถุประสงค์
1) เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามแนวทางการดำเนินการของพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
2) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับบทบาท และอำนาจหน้าที่
ของรัฐสภาและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ
3) เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทและภารกิจของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
และพิพิธภัณฑ์รัฐสภาให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
3. กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย และบุคลากรด้านการศึกษา จำนวน 140 คน

4. กิจกรรม : แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 บรรยายพิเศษ เรื่อง “พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ รัฐสภา และการมีส่วนร่วมของประชาชน” โดย รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา ได้กล่าวถึงหลักสำคัญของคำว่า ประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน รัฐธรรมนูญ หมายถึง (1) กฎหมายที่กำหนดโครงสร้างของประเทศ และ (2) รับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน และได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการเมืองการปกครองของไทย รวมถึงรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงแรงบันดาลใจในการศึกษา ประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิต

กิจกรรมที่ 1 บรรยายพิเศษ โดย รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา

กิจกรรมที่ 2 จัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดย วิทยากร กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ ประกอบด้วย นิทรรศการและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ จำนวน 3 ฐาน คือ
ฐานที่ 1 รากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยในอดีต ซึ่งเป็นรากฐาน/พื้นฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน โดยการบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5-7 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งนำสิ่งของจัดแสดงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไปจัดแสดงด้วย อาทิ แบบจำลองเมืองดุสิตธานี พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนรู้/เกมการเรียนรู้ต่าง ๆ

ฐานที่ 1 รากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

ฐานที่ 1 รากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
ฐานที่ 2 กำเนิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย และการกำเนิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งนำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก การเลือกตั้งครั้งแรกของไทย และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

กิจกรรมฐานที่ 2 กำเนิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ

กิจกรรมฐานที่ 2 กำเนิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ
ฐานที่ 3 รัฐสภาไทยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติของประเทศ ได้แก่ บทบาทและอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา องค์ประกอบและที่มาของรัฐสภา ตำแหน่งสำคัญในรัฐสภา รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับการประชุมสภาของประเทศไทยในยุคต่าง ๆ โดยนำสิ่งของเครื่องใช้ในการประชุมสภา (จำลอง) ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไปจัดแสดงด้วย พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนรู้/เกมการเรียนรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้ ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ของประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเข้าชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดกิจกรรม/เกมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดความสนใจและความเพลิดเพลิน

กิจกรรมฐานที่ 3 รัฐสภาไทยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

กิจกรรมฐานที่ 3 รัฐสภาไทยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมเกมการเรียนรู้ (ถาม-ตอบ) เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมือง การปกครองของไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และสิ่งของที่สำคัญในพิพิธภัณฑ์รัฐสภา

กิจกรรมถาม-ตอบ

กิจกรรมถาม-ตอบ
5. ผลการดำเนินงาน
จากการประเมินผลโครงการ พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ ความเข้าใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และบทบาท อำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาเพิ่มขึ้น
สถานที่ : โรงเรียนวิเศษไชยชาญ “ตันติวิทยาภูมิ” จังหวัดอ่างทอง
วันที่จัดกิจกรรม : 1 กันยายน 2563
ข้อมูล : กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ