พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
เผยแพร่ : 1 / สิงหาคม / 2563
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองเก่ากำแพงเพชร ซึ่งกรมศิลปากรจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อเก็บรวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ โบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรมท้องถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2510 และเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2514
การดำเนินงานที่น่าสนใจ
การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เข้าชม/ส่งเสริมการเรียนรู้
1. กิจกรรมภายในพื้นที่ เป็นกิจกรรมระหว่างการนำชมพิพิธภัณฑ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคณะนักเรียน นักศึกษา เพื่อเป็นสถานที่ให้เด็กได้มีโอกาสในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประวัติศาสตร์
โบราณคดี และเรื่องราวเกี่ยวกับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กิจกรรมใบงาน กิจกรรมเกม กิจกรรมถาม-ตอบระหว่างการนำชม
เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิทรรศการและโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งได้มีการจัดกิจกรรมในช่วงวันและเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกำแพงเพชร
ยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เข้าชม/ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่
- กิจกรรมสำหรับผู้พิการทางสมอง เช่น การเล่นเกมตัวต่อ (Jigsaw) การวาดภาพระบายสี การจับและคลำสิ่งของ เป็นต้น
- กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การเชิญวิทยากรจากภายนอกมาบรรยายและสอนการทำเครื่องสังคโลก และให้กลุ่มผู้สูงอายุได้ทดลองทำเครื่องสังคโลกด้วยตนเอง เป็นต้น
2. กิจกรรมภายนอกพื้นที่ ได้แก่ โครงการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชร และโครงการสำรวจขึ้นทะเบียนในครอบครองของวัดและเอกชน ซึ่งเป็นโครงการที่บุคลากรของพิพิธภัณฑสถานฯ ได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุในท้องถิ่นต่าง ๆ ตามเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ พร้อมทั้งทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนประวัติโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่เพิ่งขุดพบ หรืออยู่ในความครอบครองของวัดและคนในท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะจัดได้เฉพาะวันหยุดทำการของพิพิธภัณฑ์ (วันจันทร์และวันอังคาร) เนื่องจากในวันทำการปกติมีบุคลากรไม่เพียงพอ
การจัดนิทรรศการ
นิทรรศการถาวร มีการจัดแสดงภายในอาคารนิทรรศการ 1-3 โดยกรมศิลปากรรับผิดชอบในการจัดทำข้อมูล เป็นการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
ที่ได้จากการสำรวจทางโบราณคดี การขุดแต่งโบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และโบราณสถานอื่น ๆ การจัดแสดงนิทรรศการเป็นลักษณะการจัดแสดงแบบ timeline
ลำดับเหตุการณ์ตามระยะเวลาผ่านวัตถุจัดแสดงซึ่งเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศิลาจารึก การจัดแสดงนิทรรศการถาวร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- อาคารนิทรรศการ 1 จัดแสดงเรื่องราวของเมืองกำแพงเพชรตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคประวัติศาสตร์ในสมัยทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย
- อาคารนิทรรศการ 2 จัดแสดงเรื่องราวของเมืองกำแพงเพชรยุคประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์
- อาคารนิทรรศการ 3 จัดแสดงเรื่องราวของเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน และเรื่องราวของชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีถิ่นอาศัยในบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร
นิทรรศการชั่วคราว มีการจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว/หมุนเวียน อย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งมีเนื้อหาที่ม่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการถาวร
ลักษณะการจัดแสดงนิทรรศการถาวร เป็นการจัดแสดงในรูปแบบผสมผสาน มีการจัดวางวัตถุจัดแสดง พร้อมป้ายอธิบายวัตถุจัดแสดง ที่น่าสนใจ คือ ป้ายอธิบายวัตถุจัดแสดงบางป้ายมีการอธิบายเพิ่มเติม เช่น ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ มีป้ายอธิบายวัตถุจัดแสดง ซึ่งระบุชื่อวัตถุ อายุของวัตถุ และแหล่งที่พบ นอกจากนี้ ยังมีป้ายอธิบายการสร้างลายบนผิวภาชนะด้วยการขูดขีดและใช้เชือกทาบ โดยอธิบายด้วยข้อความและภาพวาดประกอบ ทำให้ผู้เข้าชมมีความเข้าใจมากขึ้น เป็นต้น รวมถึง มีการจัดแสดงด้วยบอร์ดข้อมูลพร้อมภาพประกอบ หุ่นจำลอง และการจัดแสดงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ข้อมูลนิทรรศการทั้งหมดจัดทำเป็น 2 ภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) อีกทั้งป้ายอธิบายวัตถุจัดแสดงบางชิ้นจัดทำเป็น QR Code ให้ผู้เข้าชมที่สนใจ download เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุจัดแสดงชิ้นนั้น ๆ ได้
การนำเสนอข้อมูล ประกอบด้วยการใช้กราฟิกบอร์ดบรรยายข้อมูลทั้งตัวหนังสือและภาพประกอบ การจัดแสดงโบราณวัตถุ การนำเสนอวีดิทัศน์ผ่านจอภาพ การจัดทำโมเดลแผนที่ทางภูมิศาสตร์เมืองกำแพงเพชร การจัดทำโมเดลหุ่นจำลองมนุษย์กิจกรรมวิถีชีวิตในอดีต สำหรับเทคนิคการออกแบบเน้นที่การออกแบบแท่นวางโบราณวัตถุทั้งระบบปิดและระบบเปิดพร้อมป้ายชื่อรายละเอียดสิ่งของ โดยคำนึงถึงมุมมองการเข้าถึงหรือสามารถจับต้องสัมผัสได้กับวัตถุบางชิ้น การออกแบบแผ่นกราฟิกบอร์ดโดยรวมเป็นตัวอักษรและภาพประกอบต่างๆ หรือแผนที่ประเทศและจังหวัด เพื่อบอกเรื่องราวที่มาของโบราณสถาน และโบราณวัตถุตามเหตุการณ์แวดล้อมที่ขุดค้น และบางจุดมีการนำเสนอข้อมูลภาพเคลื่อนไหวหรือวีดิทัศน์ผ่านจอภาพสำหรับเสริมความรู้ในมุมมองที่ต่างออกไป
การออกแบบระบบสืบค้นข้อมูลผ่านจอภาพระบบสัมผัส โดยจัดทำแอปพลิเคชั่นที่ประกอบด้วยรายละเอียดข้อมูลของโบราณสถานสำคัญภายในอุทยานประวัติศาสตร์สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าชม ซึ่งสามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกนคิวอาร์โค๊ดเพื่อเข้าสู่ชุดข้อมูลได้ด้วยตนเอง โดยมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและจัดทำ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน
สามารถนำความรู้เกี่ยวกับเทคนิค วิธีการ การดำเนินงานของสถานที่ศึกษาดูงานมาประยุกต์ใช้ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการที่ใช้สื่อแบบผสมผสาน ข้อมูลนิทรรศการแบบ 2 ภาษา (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) การใช้สื่อวีดิทัศน์ประกอบการจัดแสดง และการจัดทำ QR Code เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้เป็นแนวความคิดในการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงรูปแบบงานนิทรรศการ หรือการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์รัฐสภาได้เป็นอย่างดี ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้รับรู้ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และสร้างความคิดใหม่ ๆ นำมาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมให้ดียิ่งขึ้น
ที่ตั้ง : ถนนปิ่นดำริห์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
วันที่ศึกษาดูงาน : 23 กุมภาพันธ์ 2562
ข้อมูล : กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ