
อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
ซันวา สุดตา | 28 มกราคม 2564
“...เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์บ้านเมือง ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็น “เจ้าของ” เหตุการณ์นั้น หากเป็นเรื่องของส่วนรวม ดังนั้น การสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จึงควรเป็นเรื่องของรัฐร่วมกับประชาชน...”
เมื่อเราสัญจรผ่านถนนราชดำเนิน หลายคนจะมองว่ามีสถานที่สำคัญและเป็นที่รู้จักหลายแห่ง โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งตั้งสง่าอยู่ตรงกลางสี่แยกถนนราชดำเนินตัดกับถนนดินสอ อันเป็นอนุสรณ์สถานแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่หลาย ๆ คน คงไม่ทันได้สังเกตว่ายังมีอนุสรณ์สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนเส้นนี้เช่นกัน นั่นคือ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” ตั้งอยู่ถนนราชดำเนินกลาง บริเวณสี่แยกคอกวัว หัวมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนตะนาวทางด้านใต้ เขตพระนคร


ถึงจุดนี้อาจมีบางคนสงสัยว่า อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมถึงต้องสร้างขึ้น
ย้อนไปช่วงก่อนจะถึง 14 ตุลาคม 2516 โดยพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ได้กล่าวไว้ในเอกสารประกอบนิทรรศการ 14 ตุลาคม 2516 ว่า
“...เผด็จการทหารทำให้สภาพการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้การจำกัดเสรีภาพของประชาชน อำนาจการเมือง การปกครองอยู่ในมือของคณาธิปไตยเพียงไม่กี่คน โดยมีกลไกของรัฐ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นเครื่องมือ ภายใต้ระบบนี้ เครือข่ายกลุ่มปัญญาชนหนุ่มสาว เกิดความตื่นตัวทางปัญญา เริ่มตั้งคำถามต่อตนเองและสังคม ทำให้ตระหนักในบทบาทและศักยภาพของตน..” และ “...16 ปี ภายใต้ระบบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส โครงสร้างทางการเมืองดำรงอยู่อย่างหยุดนิ่ง ในขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล ส่งผลให้เผด็จการเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ สุกงอม การหลอมรวมพลังทางการเมืองครั้งสำคัญของสังคมไทยจึงเกิดขึ้น สิ่งนี้ระเบิดเป็นเหตุการณ์ “14 ตุลา” ที่จะต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ประชาชนตลอดไป”

นักศึกษาและประชาชนชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2516
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อเสนอว่า ควรจะสร้างอนุสาวรีย์วีรชนขึ้น เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์และผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น โดยเบื้องต้นมีขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้นเป็นแกนสำคัญในการผลักดัน ต่อมาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ขานรับกระแสเรียกร้อง ด้วยการมีมติเห็นชอบให้สร้างอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลา (ชื่อเรียกในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2517 และเห็นพ้องกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ว่า
“...เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์บ้านเมือง ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็น “เจ้าของ” เหตุการณ์นั้น หากเป็นเรื่องของส่วนรวม ดังนั้น การสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จึงควรเป็นเรื่องของรัฐร่วมกับประชาชน และสถานที่ตั้งของอนุสรณ์สถานก็ควรจะอยู่ในบริเวณถนนราชดำเนินอันเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ 14-16 ตุลาคม 2516...”
นอกจากนี้ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ก็ได้เสนอแนวคิดเพิ่มเติมว่า “...สิ่งก่อสร้างนี้ไม่ควรมีหน้าที่แค่ใช้รำลึกเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น แต่ควรจะเป็นอาคารอนุสรณ์สถานที่มีประโยชน์ใช้สอยด้วย...”


ภายหลังจากที่รัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้มีมติให้สร้างอนุสรณ์สถานฯ แล้ว ก่อนจะมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถานนี้ขึ้น ได้พูดถึงหลักการและหน้าที่ของอนุสรณ์สถาน โดยคณะกรรมการอำนวยการ สร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ภายใต้สังกัดมูลนิธิ 14 ตุลา ประกอบด้วยตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ญาติวีรชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธาน ได้มอบหมายให้นายเทอดเกียรติ ศักดิ์คำดวง ผู้ชนะการประกวดแบบ แต่เดิมเป็นผู้พัฒนาแบบให้เหมาะกับยุคสมัยด้วยแนวคิด 2 ประการ คือ ต้องเคารพความจริงของประวัติศาสตร์ และให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
จากแนวคิดดังกล่าว สถาปนิกได้นำไปพัฒนาแบบ ให้เป็นอนุสรณ์สถานที่เน้นความสงบนิ่ง โล่งกว้าง และเรียบง่าย เพื่อรำลึกและคารวะต่อวีรชน มีประติมากรรมรำลึกอยู่ใจกลางอาคาร ประกอบด้วยสวนหย่อม ลานกิจกรรมสำหรับการอภิปราย การแสดงดนตรี และการแสดงกลางแจ้งต่าง ๆ มีห้องประชุม ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย



ลักษณะประติมากรรมที่ได้ออกแบบไว้นั้น ประกอบด้วย ยอดสถูป มีลักษณะเป็นรูปทรงสากลที่แสดงถึงจิตวิญญาณสูงส่งของมวลมนุษย์ ปลายยอดสถูปมีรอยหยักคล้ายสร้างไม่เสร็จ เพื่อสื่อความหมายว่าภารกิจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุด ซึ่งยอดปลายสถูปทำด้วยวัสดุโปร่งแสง เพื่อให้เห็นแสงไฟที่ส่องออกมาจากภายในตัวสถูป แฝงนัยถึงไฟแห่งประชาธิปไตยที่เป็นอมตะ
สำหรับฐานสถูปทั้งสี่ด้านบุด้วยกระเบื้องดินเผาที่แข็งแกร่ง สลักรายชื่อวีรชน 14 ตุลา และรายล้อม ด้วยแผ่นอิฐสลักบทกวีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิเสรีภาพ ความเสียสละ เด็กและผู้หญิง กรรมกรและชาวนา และยังมีแผ่นอิฐแกะลายจากแบบภาพถ่ายหรือภาพศิลปะจากการสร้างสรรค์ของศิลปิน เพื่อสื่อถึงการเติบโตงอกงามของสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
เรียกได้ว่า การก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นอกจากจะมีแนวคิดเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ เข้าใจถึงความจริงของประวัติศาสตร์ พร้อมเปิดรับแนวความคิดจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวางแล้ว ยังมีประติมากรรมที่ออกแบบมาเพื่อสื่อความหมายให้เห็นถึงวีรกรรมของผู้ที่เสียสละ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพและความเจริญงอกงามของประชาธิปไตยนั่นเอง
ภาพประกอบจาก : https://th.wikipedia.org
และ https://artliteraturesite.wordpress.com