กฎหมายตราสามดวง
สุเมฆ จีรชัยสิริ | 1 สิงหาคม 2563
...“กฎหมายตราสามดวง” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1”
นับเป็นกฎหมายฉบับแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และยังเป็นกฎหมายที่สะท้อนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
ทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชาติไทยได้เป็นอย่างดี...
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ชำระและปรับปรุงแก้ไขตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วนำมารวบรวมเป็นหมวดหมู่ เป็นสัดเป็นส่วน รวมจำนวน 26 ส่วน เมื่อสำเร็จแล้วได้ประทับดวงตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ไว้เป็นสำคัญ จึงเรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1” นับเป็นกฎหมายฉบับแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และยังเป็นกฎหมายที่สะท้อนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชาติไทยได้เป็นอย่างดี
กฎหมายไทยได้รับอิทธิพลจาก“คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” อันเป็นคัมภีร์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีพื้นฐานของวัฒนธรรมอินเดียโดยผ่านมาทางมอญ เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้เป็นหลัก ในการอำนวยความยุติธรรมของพระมหากษัตริย์และถูกแพร่หลายไปในดินแดนต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กฎหมายของกรุงศรีอยุธยาที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893–1912)
ก็ได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เช่นกัน และเมื่อได้มีการปรับปรุงกฎหมายในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็มีการตรากฎหมายเพิ่มเติม โดยยึดมูลคดีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นหลัก เรียกว่า “พระราชศาสตร์”
รวมถึงการวินิจฉัยคดีความต่าง ๆ รวบรวมเป็นกฎหมายของแผ่นดิน เรียกว่า “พระราชนิติศาสตร์ หรือพระราชนิติคดี”
ด้วยเหตุนี้ ตัวบทกฎหมายที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง จึงเป็นทั้งพระธรรมศาสตร์ พระราชศาสตร์ และพระราชนิติศาสตร์หรือพระราชนิติคดี ผสมผสานกันโดยมีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นแกนหลักที่สำคัญ

สาระสำคัญโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง
สาระสำคัญโดยรวมของกฎหมายตราสามดวงปรากฏให้เห็นถึงโครงสร้างของสังคมไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ที่เป็นสังคมยึดถือศักดินาเป็นหลัก กล่าวได้ว่าศักดินาเป็นเครื่องกำหนดสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบและฐานะของคนทุกกลุ่มในสังคม ระบบศักดินาจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดระบบสังคม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอย่างกว้าง ๆ คือ ชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นผู้ถูกปกครอง
    ชนชั้นผู้ปกครอง พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครอง ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ แม้พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชอำนาจเป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งปวง แต่พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงปกครองบ้านเมืองโดยยึดหลักทศพิธราชธรรมมาแต่โบราณ
    ชนชั้นผู้ถูกปกครอง ชนชั้นผู้ถูกปกครองในกฎหมายตราสามดวง ได้แก่ ไพร่และทาส ซึ่งไพร่เป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม เป็นสามัญชนทั่วไป กฎหมายบังคับให้ไพร่ต้องอยู่ใต้สังกัดมูลนาย มีสถานะเป็นสมบัติของมูลนายและอยู่ในหมวดทรัพย์สินของมูลนายเช่นเดียวกับทาส ผู้ใดลักพาไพร่ของมูลนายไป ถือเป็นความผิดต้องรับโทษ ซึ่งไพร่มี 2 ประเภท ได้แก่ ไพร่หลวง และไพร่สม
นอกจากนี้ กฎหมายตราสามดวงยังได้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดกระบวนการยุติธรรมในสมัยโบราณ ได้แก่ พระธรรมนูญ พระอัยการลักษณะรับฟ้อง พระอัยการลักษณะตุลาการ พระอัยการลักษณะพยาน
พระอัยการลักษณะอุทธรณ์ เป็นต้น จะเห็นว่าศาลในอดีต กระจายอยู่ตามหน่วยราชการต่าง ๆ ไม่เป็นระบบเดียวกัน ไม่มีการแยกเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครอง ดังเช่นปัจจุบัน
ตัวบทกฎหมายถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องล่วงรู้ เป็นเรื่องที่รู้เฉพาะชนชั้นปกครองและตุลาการเท่านั้น
ต่อมามีการปฏิรูปกฎหมายและการศาลครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 จึงนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายตราสามดวงในที่สุด
ข้อมูลจาก : รายการ ร้อยเรื่อง...เมืองไทย
ภาพประกอบจาก : wikipedia.org