
งานฉลองรัฐธรรมนูญ-มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค
บุณฑริก เขมาชีวะ | 1 สิงหาคม 2563
...ป. อินทรปาลิต ผู้ประพันธ์หัสนิยายชุดสามเกลอ ได้เขียนถึงบรรยากาศงานรัฐธรรมนูญ
ไว้เมื่อ พ.ศ. 2480 ว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้เป็นงานที่ “...พี่บังหนวดยุ่มย่ามแถวพาหุรัด
อยากให้มีปีละ 365 วัน...
เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา... ในวันที่ 11-12 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญกันทั่วประเทศอย่างคึกคัก มีทั้งการแสดงมหรสพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลิเก ละคร โขน งิ้ว ภาพยนตร์ การบรรเลงเพลงไทยโดยวงทหารเรือ มีการประกวดการออกร้านค้า การจำหน่ายสินค้า ทั่วบริเวณพื้นที่สำคัญในยุคนั้น อาทิ ท้องสนามหลวง พระบรมมหาราชวัง ท่าราชวรดิษฐ์ วัดราชบูรณะ รวมถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และตามสถานที่สำคัญในจังหวัดต่างๆ และในปีต่อมายังมีการขยายขอบเขตไปฉลองยังสถานทูตไทยในต่างประเทศอีกด้วย
ทำความรู้จักรัฐธรรมนูญ
งานฉลองรัฐธรรมนูญจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จัก เทิดทูน และเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ ภายในงานมีการออกร้านขายสินค้าของหน่วยงานราชการและห้างร้านเอกชน มีการแสดงมหรสพ เช่น โขน ลิเก ละคร งิ้ว ภาพยนตร์ ประกวดนางสาวสยาม ประกวดเรียงความ และประกวดประณีตศิลปกรรม ในปีต่อๆ มางานฉลองรัฐธรรมนูญจัดขึ้นในหลายๆ สถานที่ เช่น สนามหลวง สวนลุมพินี สวนอัมพร วังสราญรมย์ ท่าราชวรดิฐ และเขาดินวนา


ร้านจำหน่ายสินค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
บรรทัดฐานของการออกร้าน
การออกร้านแสดงสินค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ห้างร้านต่างๆ จะต้องจัดซุ้มอาคารภายใต้แนวคิดเพื่อการเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีต่อรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้คือ สัญลักษณ์แทนรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ เช่น รัฐธรรมนูญจำลอง เสา 6 เสา ธง 6 ผืน เป็นต้น ระยะเวลาในการจัดงานแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะจัดประมาณ 1 สัปดาห์ คือระหว่างวันที่ 8 – 14 ธันวาคม งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสมัยนั้นประชาชน จึงต่างอุ้มลูกจูงหลานมาเที่ยวชมงานและทำความรู้จักกับรัฐธรรมนูญกันอย่างล้นหลาม
มหกรรมที่ผู้คนตั้งตาคอย
ป. อินทรปาลิต ผู้ประพันธ์หัสนิยายชุดสามเกลอ ได้เขียนถึงบรรยากาศงานรัฐธรรมนูญไว้เมื่อ พ.ศ. 2480 ว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้เป็นงานที่ “...พี่บังหนวดยุ่มย่ามแถวพาหุรัดอยากให้มีปีละ 365 วัน งานรัฐธรรมนูญอันเป็นมิ่งขวัญของชาติ งานนี้แหละผู้หญิงที่มีอายุ 12 ขวบ จนกระทั่ง 40 ขวบ เร่งวันเร่งคืนรอคอยด้วยความปรารถนา ก่อนจะถึงงานร้านตัดเสื้อ (ผู้หญิง) ต้องทำงานหนัก แขกพาหุรัดเกือบหาเวลากินโรตีไม่ได้ ผ้าแพรเสื้อกระโปรงขายราวกับเทน้ำเทท่า...”

ฉลองสิ่งใหม่ที่เรียกว่า ประชาธิปไตย
งานฉลองรัฐธรรมนูญยังคงมีต่อเนื่องอีกหลายปีต่อมา โดยแฝงนัยเชิงประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย ดังนั้น กิจกรรมภายในงานจะมุ่งเน้นให้ผู้มาร่วมเกิดความซาบซึ้ง และศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และเผยแพร่หลัก 6 ประการของคณะราษฎร (เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา) เช่น การประกวดเรียงความ ประกวดงานประณีตศิลปกรรม ประกวดละคร โดยเกณฑ์ตัดสินคือต้องสร้างความซาบซึ้งในระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญ
กุศโลบายการเมือง ก่อเกิดนางสาวไทย
“การประกวดนางสาวสยาม” หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “การประกวดนางสาวไทย” เกิดขึ้นครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2476 เพื่อเป็นกิจกรรมจูงใจให้คนมาเที่ยวชมงาน และกลายเป็นการประกวดสำคัญของประเทศที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันแม้งานฉลองรัฐธรรมนูญจะยกเลิกไปแล้วก็ตาม

นายทหารอัญเชิญรัฐธรรมนูญ 2475 ไปจัดแสดง ณ ท้องสนามหลวง

งานฉลองที่มีวันเลิกรา
งานฉลองรัฐธรรมนูญ ลดบทบาทความสำคัญลงมากตั้งแต่ช่วงราวปีพ.ศ. 2490 สืบเนื่องมาจากภาวะสงครามโลก และการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2501 เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นมหกรรมไปโดยสิ้นเชิง คงไว้เพียงงานพระราชพิธีในวันที่ 10 ธันวาคมเท่านั้น
ข้อมูลจาก : นิทรรศการ "มองย้อนรัฐธรรมนูญ" ของพิพิธภัณฑ์รัฐสภา