80 ปี แห่งการสวรรคตของพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย
เชษฐา ทองยิ่ง | 18 พฤษภาคม 2564
...ในโอกาสครบ 80 ปีแห่งการเสด็จสวรรคต สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและพสกนิกรชาวไทย ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญปฏิบัติตลอดระยะเวลาทรงครองราชย์ แม้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัยไปนานแล้วก็ตาม แต่พระองค์ยังทรงอยู่ในดวงจิตดวงใจอันจงรักภักดีของปวงข้าพระพุทธเจ้าฯ ทั้งหลาย ตราบนานเท่านานสืบไป...



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” และทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ครั้งทรงพระเยาว์ เมื่อได้รับการศึกษาเบื้องต้นอันสมควรแก่ขัตติยบรมราชกุมารแล้ว ขณะมีพระชนมายุ 12 พรรษา ได้เสด็จฯ ไปยังประเทศอังกฤษเพื่อศึกษาวิชาสามัญและทรงศึกษาต่อด้านวิชาการทหาร จนสำเร็จการศึกษา จากนั้นทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพบกอังกฤษเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงได้เสด็จฯ นิวัตประเทศไทย และเข้ารับราชการในกองทัพบกไทย โดยทรงเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับ



เมื่อพระชนมายุครบผนวช พระองค์ทรงลาราชการเข้าผนวชในบวรพระพุทธศาสนา เป็นเวลา 1 พรรษา ขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นว่า พระองค์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์สุดท้าย น่าจะมิได้ทรงดำรงตำแหน่งทางราชการที่สำคัญ เทียบเท่าสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอทั้งหลายเป็นแน่ แต่ถ้าหากทรงดำรงในสมณเพศตลอดไปแล้ว ย่อมจะทรงมีโอกาสเป็นใหญ่ในบรรดาพระสงฆ์อย่างแน่นอน จึงแนะนำว่าควรจะทรงผนวชต่อไป แต่พระองค์ทรงปฏิเสธพระประสงค์นี้ โดยทูลตอบตามตรงว่า พระองค์ทรงมีความรักเสียแล้ว ประกอบกับมีข้อจำกัดทางด้านพระพลานามัยของพระองค์ที่ประชวรอยู่บ่อยครั้ง และเมื่อทรงลาสิกขาบทแล้ว ทรงกลับเข้ารับราชการทหารตามเดิม และต่อมาได้อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระราชธิดาในกรมสมเด็จฯ พระสวัสดิวัดนวิสิษฐ์ และหม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี



จากนั้นเสด็จฯ ไปศึกษาต่อวิชาการทหารชั้นสูงที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ณ ประเทศฝรั่งเศสระยะหนึ่ง ประกอบกับขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นองค์พระรัชทายาทสืบทอดตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระองค์จึงต้องหันมาศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีปกครองบ้านเมืองและราชการแผ่นดินเพิ่มเติม เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับการปกครองบ้านเมือง และต่อมาได้รับการสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 พระองค์ได้รับอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 33 พรรษา ต่อมาได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” และทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรชายา ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” ในโอกาสเดียวกัน

ตลอดระยะเวลาทรงครองราชย์ พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนนานับประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเมืองการปกครอง ทั้งนี้ พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะเห็นประเทศสยามขณะนั้นมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรัชกาลของพระองค์ ทรงมีพระราชอุตสาหะให้มีการพัฒนาการเมืองอย่างมีขั้นตอน เพื่อวางรากฐานนำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยในอนาคต ที่สำคัญ ได้แก่ ทรงตั้งสถาบันทางการเมืองขึ้นใหม่และปรับปรุงสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทรงจัดให้มีการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล และโปรดเกล้าฯ ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อเตรียมการพระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทย แต่ยังมิทันที่จะมีการพระราชทานตามพระราชประสงค์นั้น ได้เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะบุคคลซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

พระราชทานรัฐธรรมนูญ
แม้พระองค์จะมีพระราชประสงค์และจุดมุ่งหมายเดียวกับคณะราษฎรที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับหลักการและการกระทำของรัฐบาลขณะนั้นหลาย ๆ ประการ ประกอบกับมีปัญหาด้านสุขภาพพลานามัยด้านสายพระเนตร พระองค์จึงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯ ไปยังประเทศอังกฤษเพื่อเข้ารับการผ่าตัดสายพระเนตร พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ภายหลังรับการรักษาพระเนตรแล้ว ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษต่อไป

พระตำหนักโนล (Konwle) ประเทศอังกฤษ

อัญเชิญพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 7 กลับประเทศไทย
เมื่อระยะเวลาผ่านไป ความขัดแย้งในแนวพระราชดำริของพระองค์กับแนวคิดของรัฐบาลมิได้สิ้นสุดลงแต่อย่างใด รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองพระราชประสงค์และพระราชดำริของพระองค์ได้ จึงทรงมีพระราชดำริที่จะไม่เสด็จฯ นิวัตประเทศไทยอีกเลย ในที่สุดนำไปสู่การสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 จากนั้นได้ใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ด้วยโรคพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา และได้มีการประกอบพิธีพระบรมศพเป็นการส่วนพระองค์ แบบเรียบง่ายดังเช่นสามัญชนทั่วไป ณ สุสานโกลเดอร์ส กรีน ซึ่งอยู่ใกล้ที่ประทับของพระองค์
ในโอกาสครบ 80 ปีแห่งการเสด็จสวรรคต สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและพสกนิกรชาวไทย ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญปฏิบัติตลอดระยะเวลาทรงครองราชย์ แม้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัยไปนานแล้วก็ตาม แต่พระองค์ยังทรงอยู่ในดวงจิตดวงใจอันจงรักภักดีของปวงข้าพระพุทธเจ้าฯ ทั้งหลาย ตราบนานเท่านานสืบไป...