
...(จด)หมายเหตุรัฐสภา
ธนียา วงศ์สีทา | 25 กุมภาพันธ์ 2564
“...จดหมายเหตุรัฐสภา เป็นคลังข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านนิติบัญญัติของรัฐสภา มีหน้าที่รวบรวมเอกสารที่เกิดจากกระบวนการดำเนินงานของรัฐสภาในทุกบริบท ทุกขั้นตอน ทุกเหตุการณ์ และทุกช่วงเวลา...”
“รัฐสภา” เป็นสถาบันที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่สำคัญดังนี้
การตรากฎหมาย : ออกกฎหมายเพื่อใช้บังคับกับประชาชนในสังคมและประเทศชาติ
การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน : ควบคุม ตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญของประเทศ : ในเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
รู้จัก..จดหมายเหตุรัฐสภา
จดหมายเหตุรัฐสภา เป็นคลังข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านนิติบัญญัติของรัฐสภา มีหน้าที่รวบรวมเอกสารที่เกิดจากกระบวนการดำเนินงานของรัฐสภาในทุกบริบท ทุกขั้นตอน ทุกเหตุการณ์ และทุกช่วงเวลา ปรากฏในหลายลักษณะ ทั้งรูปแบบเอกสารกระดาษ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ภาพถ่าย สื่อโสตทัศน์ ซึ่งเป็นหลักฐานของการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ประการหนึ่ง คือ การตรากฎหมาย หรือออกกฎหมายใช้บังคับ รวมถึงกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

...(จด)หมายเหตุรัฐสภา : พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2477
ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476
การเสนอร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติซึ่งรัฐบาลหรือสมาชิกเสนอนั้นต้องแบ่งเป็นมาตราและมีบันทึกแสดงหลักการและเหตุผลต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาโดยแบ่งออกเป็น 3 วาระ
วาระที่ 1 รับหลักการ ที่ประชุมลงมติว่าควรจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้พิจารณาหรือไม่
วาระที่ 2 พิจารณารายมาตรา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเรียงลำดับมาตรา และลงมติเฉพาะมาตรานั้นว่าจะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ หรือคงไว้ตามเดิม
วาระที่ 3 ลงมติให้ความเห็นชอบ
ประกาศใช้พระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้กฎหมายต่อไป