team-member


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


เชษฐา ทองยิ่ง   |   25 กุมภาพันธ์ 2564



“...การเลือกตั้ง ส.ส. ของประเทศไทยมีทั้งการเลือกตั้งทางอ้อมและทางตรง การเลือกตั้งทางอ้อมมีขึ้นเพียงครั้งเดียว ได้แก่ การเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476...”




การเลือกตั้งเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยให้มีสิทธิมีเสียงในการปกครองตนเอง โดยเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตน

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป รวมทั้งสิ้น 26 ครั้ง * ไม่นับการเลือกตั้งเพิ่มเติมในปี 2489 และ 2492 **

team-member




team-member

ดาวน์โหลดสถิติการเลือกตั้ง



มูลเหตุที่นำไปสู่การเลือกตั้ง

จากประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง พบว่าการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นใหม่ในแต่ละครั้ง เกิดจากสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรครบวาระดำรงตำแหน่ง (3 ครั้ง) การยุบสภาผู้แทนราษฎร (13 ครั้ง) และ การยึดอำนาจหรือรัฐประหาร กรณีนี้จะประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและทำการร่างฉบับใหม่ขึ้น เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว จึงกำหนดให้จัดการเลือกตั้งขึ้น (10 ครั้ง)


การเลือกตั้งทางอ้อม

การเลือกตั้ง ส.ส. ของประเทศไทยมีทั้งการเลือกตั้งทางอ้อมและทางตรง การเลือกตั้งทางอ้อมมีขึ้นเพียงครั้งเดียว ได้แก่ การเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2475 กำหนดให้ระยะเริ่มแรก สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท มีจำนวนเท่ากัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม คือ ประชาชนจะไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกนั้น จะไปทำการเลือกตั้ง ส.ส. แทนประชาชนอีกขั้นหนึ่ง



team-member

การเลือกตั้งทางตรง

การเลือกตั้งที่เหลือตั้งแต่ครั้งที่ 2-26 ครั้งล่าสุด เป็นการเลือกตั้งทางตรงทั้งสิ้น โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือก ส.ส. โดยตรงด้วยตนเอง ไม่ต้องกระทำผ่านบุคคลใด


การเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่า “สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์”

ได้แก่ การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 พบว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตโปร่งใสหลายประการ อาทิ มีการใช้อำนาจแทรกแซงหรือบังคับให้ชาวบ้านเลือกผู้สมัครจากพรรครัฐบาล มีการทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยแจกใบปลิวโจมตี ใช้กลวิธีแอบแฝงซ่อนเร้น โดยใช้คนเวียนเทียนกันลงคะแนน ที่เรียกว่า “พลร่ม” เมื่อปิดหีบแล้วมีการเอาบัตรลงคะแนนที่เตรียมไว้ใส่เข้าไป เรียกว่า “ไพ่ไฟ” มีการแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาผู้คน อีกทั้งใช้เวลานับคะแนนเลือกตั้งนานถึง 7 วัน 7 คืนด้วยกัน ทำให้นิสิต นักศึกษาและประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จึงเดินขบวนประท้วง นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมายอมรับว่า การเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผู้ชุมนุมจึงสลายตัวไป เหตุการณ์ชุมนุมจึงยุติลง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งใหม่มิได้จัดขึ้น เนื่องจากเกิดการรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500



team-member



การเลือกตั้งที่มีระยะห่างระหว่างกันนานที่สุด

การเลือกตั้งที่มีระยะห่างระหว่างการเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน นานที่สุด ได้แก่ การเลือกตั้ง ครั้งที่ 8 วันที่ 15 ธันวาคม 2500 และครั้งที่ 9 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 มีระยะห่างกันนานประมาณ 12 ปี เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้ง ครั้งที่ 8 วันที่ 15 ธันวาคม 2500 ต้องสิ้นสุดลง โดยการรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2501 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครอง 2502 ซึ่งบัญญัติให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นใหม่ ซึ่งใช้เวลายกร่างนานประมาณ 9 ปี จึงแล้วเสร็จในปี 2511 และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2511 จากนั้น จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นใหม่ ในครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512

team-member

team-member




การเลือกตั้งที่มีระยะห่างระหว่างกันน้อยที่สุด

การเลือกตั้งที่มีระยะห่างระหว่างการเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน น้อยที่สุด ได้แก่ การเลือกตั้ง ครั้งที่ 16 วันที่ 22 มีนาคม 2535 และครั้งที่ 17 วันที่ 13 กันยายน 2535 มีระยะห่างกันแค่ประมาณ 6 เดือน เนื่องจากภายหลังการเลือกตั้ง ครั้งที่ 16 วันที่ 22 มีนาคม 2535 ได้มีการเสนอชื่อพลเอก สุจินดา คราประยูร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2534 ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. หรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ จนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 หรือที่เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ต่อมาพลเอก สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ประเด็นหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนั้น ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมให้ “นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.” จากนั้น นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นใหม่ ในครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535

team-member

team-member




การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ภายหลังการเลือกตั้ง ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย สาเหตุมาจากพรรคไทยรักไทยขณะนั้นได้ว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น จึงมีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค จำนวน 111 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วย



team-member


การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ได้แก่ การเลือกตั้ง ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง และขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยปิดคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนบางพื้นที่ไม่สามารถใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ จึงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั่วประเทศได้ภายในวันเดียวตามที่กฎหมายกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นแล้ว แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั่วประเทศได้ภายในวันเดียว เมื่อพระราชกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย



team-member





team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...