team-member





การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา


เชษฐา ทองยิ่ง   |   25 กุมภาพันธ์ 2564



“...หากจะกล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในประเทศไทย นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามาแล้ว รวม 5 ครั้ง...”




หากพิจารณาพัฒนาการเริ่มแรกของวุฒิสภา จะขอย้อนไปถึงสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเสมือนเป็นสภาที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่างๆ ในทางนิติบัญญัติ รวมถึงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย รัฐธรรมนูญ 2475 บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ
สมาชิกประเภทที่ 1 มีที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งการมีสมาชิกประเภทที่ 2 มีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเสมือนพี่เลี้ยงแก่สมาชิกประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากขณะนั้นเพิ่งเริ่มเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยใหม่ ๆ ราษฎรจำนวนมากยังมีการศึกษาน้อย ไม่เพียงพอที่จะจัดการปกครองด้วยตนเอง ดังนั้น การมีสมาชิกประเภทที่ 2 จะช่วยประคับประคองให้กิจการงานของสภาดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายของการปกครองและรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อใดราษฎรได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และเพียงพอที่จะปกครองตนเองกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2


อย่างไรก็ตาม จากพัฒนาการของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสมาชิกประเภทที่ 2 ดังกล่าว ยังไม่ถือว่าวุฒิสภากำเนิดขึ้นอย่างแท้จริง จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติให้รัฐสภาเป็นแบบสองสภา ประกอบด้วย พฤฒสภาและสภาผู้แทน รวมทั้งกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีคุณสมบัติสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เพราะมุ่งหวังว่าจะให้ประเทศไทยมีสถาบันหลักทำหน้าที่กลั่นกรองงานของสภาผู้แทน ต่อมาในรัฐธรรมนูญ (ฉะบับชั่วคราว) 2490 ยังคงบัญญัติให้ใช้ระบบสองสภาเช่นเดิม ประกอบด้วยสภาผู้แทนและวุฒิสภา ซึ่ง “วุฒิสภา” นี้เปลี่ยนชื่อมาจาก “พฤฒสภา” นั่นเอง จากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ยังคงบัญญัติให้มีวุฒิสภาตลอดมา ซึ่งมีที่มาทั้งจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ยกเว้นช่วงที่เกิดการรัฐประหารจะบัญญัติให้มีสภาเดียวขึ้นมาทำหน้าที่นิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยมีชื่อเรียกต่างกันไป อาทิ สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

team-member

การประชุมพฤฒสภา มีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธาน นายไพโรจน์ ชัยนาม เป็นเลขานุการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2489




หากจะกล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในประเทศไทย นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามาแล้ว รวม 5 ครั้ง เป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อม 1 ครั้ง ได้แก่ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา และการเลือกตั้งแบบทางตรง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา อีก 4 ครั้ง



ครั้งที่ 1


ครั้งที่ 1 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา (พรึด-สะ-พา) ตามรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งบัญญัติให้รัฐสภาเป็นแบบสองสภา ประกอบด้วย พฤฒสภาและสภาผู้แทน โดยพฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 80 คน มาจากการเลือกตั้งของราษฎร แต่ในวาระเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาล ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 สมาชิกพฤฒสภาชุดนี้ถือเป็นสภาสูงชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือ รัฐธรรมนูญ (ฉะบับชั่วคราว) 2490 ได้เปลี่ยนชื่อเรียก “พฤฒสภา” เป็น “วุฒิสภา” ทำให้การเรียกชื่อ “สมาชิกพฤฒสภา” เปลี่ยนเป็น “สมาชิกวุฒิสภา” ด้วย

team-member

พระยามานวราชเสวี หนึ่งในองค์คณะเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา 24 พฤษภาคม 2489



team-member

บัตรเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา


team-member




team-member

ซองบัตรเลือกตั้งและหีบบัตรเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489




ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3

ครั้งที่ 2 วันที่ 4 มีนาคม 2543 และ ครั้งที่ 3 วันที่ 19 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คน มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็นการเลือกตั้งที่จัดขึ้นพร้อมกันในทุกจังหวัดและกระทำเป็นวันเดียวกันทั้งประเทศ โดยในแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนสมาชิกวุฒิสภาต่างกันไปตามสัดส่วนจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ กำหนดให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครในแต่ละจังหวัดได้เพียง 1 คน

team-member



team-member

การประชุมวุฒิสภา เลือกตั้งประธานวุฒิสภา เมื่าอวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547




ครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5

ครั้งที่ 4 วันที่ 2 มีนาคม 2551 และ ครั้งที่ 5 วันที่ 30 มีนาคม 2557 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 150 คน มีที่มา 2 ประเภท ได้แก่ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด และมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีจำนวน 76 คน เลือกมาจากจังหวัดละ 1 คน ทั้งนี้ กำหนดให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครในแต่ละจังหวัดได้เพียง 1 คน


ปัจจุบัน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มิได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนฉบับ 2540 และ 2550 ที่ผ่านมา

สมาชิกวุฒิสภาถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็ตาม หากดำเนินไปโดยความถูกต้อง บริสุทธิ์และยุติธรรม การทำหน้าที่ในสภาสูงในการกลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎรก็จะเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อประชาชน สังคม ประเทศชาติ และการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย




team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...