รัฐพิธีเปิดประชุมสภา
ปัทมพร ทัศนา | 9 มิถุนายน 2564
“...สิ่งสำคัญในการที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดประชุมสภานั้น คือ พระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่สมาชิกรัฐสภา ซึ่งสมาชิกรัฐสภาทุกคนจะต้องน้อมใส่เกล้าและยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติอย่างสูงสุด...”
ความหมายของรัฐพิธี
รัฐพิธี หมายถึง งานหรือพิธีที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธี หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานก็ได้
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาถือเป็นพิธีการที่สำคัญของประเทศไทยที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เสมือนเป็นการประกาศให้ประชาชนได้ทราบว่า จะมีคณะบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการบริหารปกครองประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะประมุขของประเทศ จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน และมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะเข้ารับการปฏิบัติหน้าที่ หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้
ความเป็นมาของรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
“รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา” เริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยพบว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “สภากรรมการองคมนตรี” ขึ้น และเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง แต่ได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยามหิธรเสนาบดี ราชเลขาธิการ อัญเชิญไปอ่านเปิดประชุม พระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “...ท่านย่อมทราบแล้วว่าตำนานของกรุงสยามตั้งแต่โบราณกาลมา การปกครองประเทศย่อมอยู่ในพระราชอำนาจอันสิทธิ์ขาดของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงตั้งแต่งผู้ที่ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นเสนาบดี ให้บังคับบัญชากระทรวง ทบวงการต่างๆ เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระ...”
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ก็ได้อาศัยประเพณีที่ถือปฏิบัติมาใช้เปิดประชุมสภา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญไปอ่านเปิดการประชุม ความว่า “วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ”
จากนั้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้วจึงมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเรื่อยมา และมีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทุกฉบับอีกด้วย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 121 วรรคหนึ่ง ว่า “ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก” และมาตรา 122 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้”
พิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งล่าสุด
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีพระราชดำรัสแก่สมาชิกรัฐสภา ความว่า “บัดนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลง และมีการเรียกประชุมรัฐสภา พุทธศักราช 2562 แล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป ขอให้สมาชิกแห่งสภา พึงนึกถึงความสำคัญและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะการกระทำทุกอย่างของแต่ละคน จะมีผลโดยตรงถึงความมั่นคงของประเทศ และความสุขทุกข์ของประชาชน จึงจำเป็นที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจทั้งปวง โดยเต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริต และด้วยความคิดพิจารณาอันสุขุมรอบคอบ หนักแน่นด้วยเหตุผลที่ถูกต้องเที่ยงตรง ตามหลักนิติธรรม และคุณธรรม ให้งานของชาติดำเนินก้าวหน้าไป โดยไม่ติดขัดและบังเกิดประโยชน์อันพึงประสงค์ สมบูรณ์ บริบูรณ์ ขออำนวยพรให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อย สัมฤทธิ์ผล เป็นความผาสุก สุขสวัสดิ์ และความวัฒนาถาวรแก่อาณาประชาราษฎร์ และชาติบ้านเมือง ทั้งขอให้ทุกคนที่ประชุมร่วมกันอยู่ ณ ที่นี้ ประสบความสุขความเจริญทุกเมื่อถ้วนหน้ากัน” สำหรับพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภานั้น เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ โดยสิ่งสำคัญในการที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดประชุมสภานั้น คือ พระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่สมาชิกรัฐสภา ซึ่งสมาชิกรัฐสภาทุกคนจะต้องน้อมใส่เกล้าและยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติอย่างสูงสุด