team-member



พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


พัทธนันท์   สัทธาพงษ์   |   25 มีนาคม 2564



“...ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญ...”




พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 จนกระทั่งทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ตลอดระยะเวลา 9 ปี 3 เดือน 4 วัน ในรัชสมัย ทรงมั่นคงอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างเคร่งครัด ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายด้านหลายประการ และทรงได้รับพระราชสมญานามว่าเป็นพระบิดาแห่งการเมืองและการปกครอง ซึ่งเป็นพระราชสมญานามที่ได้มาจากพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญในระหว่างดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 9 ปี แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาที่สั้น แต่พระองค์ก็ได้ทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาระบอบการเมืองและการปกครองของประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อให้เท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยทรงริเริ่มนำประเทศไทยเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างมีแบบแผน




team-member





ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ก็ได้ทรงยินยอมที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตอบผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารซึ่งเป็นฝ่ายเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้

“ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อคุมให้โครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญโดยสะดวก...”

ต่อมาเมื่อรัฐบาลขณะนั้นได้ใช้วิธีการปกครองไม่ตรงกับหลักการของพระองค์ และทรงเห็นว่า พระราชประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่บรรลุผลสำเร็จ จึงทรงกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและเสียสละอย่างยิ่งด้วยการสละราชสมบัติ เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่เหมาะสมกว่าเข้ามาทำหน้าที่แทนพระองค์สืบไป


ทรงสละราชสมบัติ

ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ซึ่งทรงพระอักษรด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์ยาว 6 หน้า ทรงเขียนออกมาจากความรู้สึกอันแท้จริงของพระองค์ พระราชทานมาจากบ้านโนล แครนลี ประเทศอังกฤษ นับว่าเป็นเอกสารสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองของชาติไทย



team-member



team-member



team-member



team-member



team-member



team-member



สาระสำคัญของเอกสารสรุปได้ว่ามี 2 ส่วน


ส่วนที่หนึ่ง คือ การกล่าวถึงปัญหาและข้อขัดข้องต่าง ๆที่พระองค์ทรงประสบจากการดำเนินงานของรัฐบาล อาทิ ปัญหาที่รัฐบาลได้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่สอง แทนการเลือกตั้ง โดยไม่ได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงพิจารณาก่อน การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อการออกพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ และการตั้งศาลพิเศษเพื่อตัดสินคดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมทั้งการปราบปรามกบฏบวรเดช ในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินคดีความกับคณะกู้บ้านเมืองหรือกบฏบวรเดช โดยไม่ได้ดำเนินการตามที่พระองค์ได้ทรงชี้แนะไว้ให้มีการอภัยโทษทั้งหมด เป็นต้น

“ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้”



team-member

ส่วนที่สอง เป็นคำประกาศสละราชสมบัติ ซึ่งมีสาระและความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

“ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้า ไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดย ไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์
ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์”



เชิญกระแสพระบรมราชโองการสละราชสมบัติ

ในการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เชิญกระแสพระบรมราชโองการสละราชสมบัติ แจ้งความมาถึงนายกรัฐมนตรี (นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา) ความว่า
1. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติไปพระราชทานแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เดือนนี้ เวลา 16.30 น. และขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเชิญพระราชหัตถเลขาต่อมายังกรุงเทพฯ และแสดงพระราชประสงค์ขอให้ประกาศพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัตินั้นแก่ประชาชนให้ทราบทั่วกันด้วย
2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละสิทธิที่จะตั้งผู้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ไป
3. ทรงสละสิทธิทั้งหลายในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ทุกประการ แต่จะคงทรงสงวนสิทธิทั้งปวงซึ่งเคยได้ทรงดำรงมาตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ 4. จะคงประทับอยู่ ณ ที่ประทับบัดนี้จนปลายเดือนมิถุนายน ถ้ามีหนังสือที่จะส่งไปถวาย ควรจ่าหน้าซองในพระนาม “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”

ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ส่งโทรเลขจากกรุงเทพฯ ถึงอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ความว่า โปรดนำความต่อไปนี้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก “รัฐบาลได้รับสำเนาพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติแล้วด้วยความโทมนัส รัฐบาลได้นำพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับทราบไว้ด้วยความโทมนัส สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นทรงราชย์ สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญ และโดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์อยู่ สภาผู้แทนราษฎรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ เป็นประธานพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และเจ้าพระยายมราช รัฐบาลขอถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก และสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี ขอให้คงทรงพระสำราญอยู่ต่อไป”



เสด็จสวรรคต

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ ได้เสด็จประทับที่ตำบลเวอจิเนียร์ วอเตอร์ ซึ่งอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอน ครั้นถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา พระองค์ได้เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยโรคพระหทัยวาย และได้ถวายพระเพลิงเสร็จในวันที่ 3 มิถุนายน ศกนั้น ณ สุสานโกลเดอร์ส กรีน ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของกรุงลอนดอน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาสู่พระนคร โดยอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในหอพระบรมอัฐิที่ชั้นบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง และอัญเชิญพระสรีรางคารเข้าบรรจุในแท่นฐานชุกชีพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งทรงถือเป็นวัดประจำรัชกาล พร้อมกันนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานครบถ้วนตามพระราชประเพณี

team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...