
การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
พิพิธภัณฑ์รัฐสภา | 28 มกราคม 2564
“...อาคารรัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองประชาธิปไตย แนวคิดในการออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ จึงให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกระดับ เพราะประชาชนอยู่ในฐานะที่สำคัญในทุกภาคส่วน ...”
เนื่องจากอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน มีพื้นที่จำกัดทำให้เกิดความแออัด ไม่สามารถรองรับภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติได้ จึงได้มีแนวคิดหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในเบื้องต้นได้มีการพิจารณาพื้นที่ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริเวณที่ดินราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต ที่ดินบริเวณคลังเชื้อเพลิง แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร และที่ดินราชพัสดุกองคลังแสง กรมสรรพวุธ ทหารบก ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
และได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมหารือกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา พันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

"พระที่นั่งอนันตสมาคม" อาคารรัฐสภาแห่งแรก

อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน อาคารรัฐสภาแห่งที่สอง
คณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 เห็นชอบให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต แปลงริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 119 ไร่ เป็นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากเป็นแกนเมืองที่มีความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และได้ขยายเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยการก่อสร้างถนนราชดำเนินไปสิ้นสุดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ต่อเนื่องถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ประชุมรัฐสภาครั้งแรก

การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยทีมสงบ 1051 ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดเป็นงานสถาปัตยกรรมไทยตามคติไตรภูมิ ในพุทธวิธีที่สร้างมณฑลศักดิ์สิทธิ์เป็นสัปปายะสถาน
นำบ้านเมืองสู่ภาวะ “บังอบายเบิกฟ้า ฝึกพื้นใจเมือง” ที่พระมหากษัตริย์และบรรพบุรุษของเราในอดีต ได้สถาปนาสืบสานเพื่อให้บ้านเมืองสงบร่มเย็นมาต่อเนื่องยาวนาน
ทั้งนี้ การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้เน้นเรื่องอุดมคติ 5 เรื่อง และเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิต 4 เรื่อง

"พระสุริยัน" แนวคิดหลักในการออกแบบห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ว่า พระสุริยันเป็นต้นกำเนิดของชีวิตและสรรพสิ่งในโลกนี้ เช่นเดียวกับภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐสภา เพื่อความผาสุกสงบร่มเย็นของประชาชน

"พระจันทรา" แนวคิดหลักในการออกแบบห้องประชุมวุฒิสภาที่ว่า พระจันทราเป็นพลังคู่กับพระสุริยัน เปรียบเสมือนการทำงานระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ
อุดมคติ 5 เรื่อง ประกอบด้วย
อุดมคติเรื่องที่ 1 ชาติ
รัฐสภาต้องสง่างามมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าอย่างไทย เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เจริญขึ้นจากรากเหง้าของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย เป็นการสืบสานทั้งศิลปะ วัฒนธรรม คติความเชื่อ
และภูมิปัญญาจากอดีตเชื่อมโยงมาจึงถึงปัจจุบัน
อุดมคติเรื่องที่ 2 ศีลธรรม
ปัญหาการแสดงความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างกันของคนในสังคมปัจจุบัน รัฐสภา
จึงเป็นศูนย์รวมแห่งความหวังของประชาชนและสังคมทั่วไป โดยให้อาคารรัฐสภาเป็นสัปปายะของบ้านเมือง กล่าวคือ เป็นสถานที่แห่งปัญญา เป็นศูนย์รวมจิตใจและการมีส่วนร่วมกันของคนทั้งชาติ รวมทั้งเป็นสภาที่ศักดิ์สิทธิ์
และเป็นหลักของบ้านเมืองในเรื่องศีลธรรม คุณธรรม และการปกครองโดยธรรม
อุดมคติเรื่องที่ 3 สติปัญญา
รัฐสภาแห่งใหม่จะเป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้และสติปัญญาของบุคคลภายในชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นชาติ เพื่อสืบสานความเป็นไทยไปสู่สังคมโลก
อุดมคติเรื่องที่ 4 สถาบันพระมหากษัตริย์
ประเทศไทยมีศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญสูงสุดที่ทำให้แตกต่างจากชาติอื่น ๆ ในโลก คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จึงให้ความสำคัญกับลำดับของพื้นที่กำหนดขึ้น
เพื่อใช้ในการประกอบรัฐพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดประชุม ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ที่สมพระเกียรติโดยอยู่ในสถานที่อันควรและเหมาะสม
อุดมคติเรื่องที่ 5 ประชาชน
อาคารรัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองประชาธิปไตย แนวคิดในการออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ จึงให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกระดับ เพราะประชาชนอยู่ในฐานะที่สำคัญในทุกภาคส่วน

เครื่องยอดอาคาร

"สัปปายะสภาสถาน” สถาปัตย์ไทยตามคติ “ไตรภูมิ”

สัญลักษณ์
องค์ประกอบที่สำคัญของห้องประชุมสภา หมายถึง ความสวัสดี และสติปัญญา
ประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิต 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ประโยชน์ใช้สอย แนวคิดสถาปัตยกรรมสร้างขึ้นโดยพิจารณาให้ความสำคัญกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอย่างเท่าเทียมกัน การจัดระบบอาคารคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก จึงสร้างพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าด้วยกัน และมีส่วนอื่น ๆ อยู่ข้างนอก
2. อาคารเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมและประหยัดพลังงาน การออกแบบอย่างพิถีพิถันบูรณาการอาคารขนาดใหญ่ เพื่อให้เป็นอาคารตัวอย่างที่สำคัญของประเทศ
3. การออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม การออกแบบวางผังแม่บทได้พิจารณาถึงการให้ความสะดวกแก่ผู้พิการ เด็ก และผู้สูงอายุด้วย
4. ระบบรักษาความปลอดภัยและความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ การออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ ได้เตรียมรองรับทุกสถานการณ์และวินาศภัยทุกรูปแบบอย่างบูรณาการ รวมทั้งการวางระบบผังแม่บท โดยใช้มาตรฐานเทคโนโลยีระดับสูง โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์สูงของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบที่สำคัญ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ จะเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ และบริบูรณ์พร้อมด้วยภาพลักษณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวไทยทุกคน ในฐานะศูนย์กลางแห่งระบอบประชาธิปไตยสืบต่อไป

ห้องโถงสำหรับใช้ในการประกอบรัฐพิธี

รูปแบบอาคารเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมและประหยัดพลังงาน
ข้อมูลจากหนังสือรัฐสภาแห่งใหม่ (New Parliament)
จัดทำโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550