พฤฒสภา
ซันวา สุดตา | 25 มีนาคม 2564
“...ที่เราจําต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่ายังมีราษฎรอีกเป็นจํานวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ ที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ...”
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 กำหนด ให้รัฐสภาเป็นระบบสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 2 ประเภท ประกอบด้วย สมาชิกประเภทที่ 1 มีที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มีที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งสมาชิกทั้งสองประเภทมีจำนวนเท่ากันคือ 78 คน ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ 1 เสมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยช่วยเหลือกลั่นกรองงานให้แก่สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง อันส่งผลให้การทํางานของรัฐสภาเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ดังเหตุผลที่ นายปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่งว่า
“...ที่เราจําต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่ายังมีราษฎรอีกเป็นจํานวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ ที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลําพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎร อาจเป็นผู้ที่มีกําลังในทางทรัพย์ คณะราษฎรปฏิญาณไว้ว่า ถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จําเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดําเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์ อันแท้จริง...”
ระบบสองสภา
โดยเจตนารมณ์ดังกล่าวได้ใช้เรื่อยมา จนมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐสภาไทย เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 โดยเริ่มใช้ “ระบบสองสภา” หรือ “ระบบสภาคู่” เป็นครั้งแรก ประกอบด้วย พฤฒสภา และ สภาผู้แทน (คำว่า “สภาผู้แทน” เรียกชื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งไม่มีคำว่า “ราษฎร” ต่อท้าย) ซึ่งความจำเป็นที่ต้องมีพฤฒสภานั้น เพื่อเป็นสภาที่คอยตรวจสอบ กลั่นกรอง ให้คำแนะนำปรึกษา และยับยั้งการใช้อำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทน โดยเฉพาะในด้านนิติบัญญัติ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี อาจกล่าวได้ว่าเป็นอํานาจ หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 นั่นเอง
เมื่อพฤฒสภา เปรียบเสมือนสภาสูง รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภา มีคุณสมบัติอย่างน้อยจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี
ที่มาของพฤฒสภา
สำหรับที่มาของพฤฒสภา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 กำหนดให้พฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 80 คน โดยราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งในวาระแรกให้มี “องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา” ขึ้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในตำแหน่งในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นสมาชิกองค์การฯ มีหน้าที่กำหนดวิธีเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกตั้งดังกล่าว มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่ทำการของ สำนักงานเลขาธิการองค์การเลือกตั้ง นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวในหนังสือ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี” ว่า “การเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่ 9.00 นาฬิกา ต่อจากนั้นก็เริ่มนับคะแนนจนเสร็จสิ้นในวันนั้นเอง ปฏิบัติงานทั้งกลางวันและกลางคืน จนรุ่งสว่างจึงเสร็จสิ้น”
สิ้นสุดพฤฒสภา
พฤฒสภา ได้ถือกำเนิดและสิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 รวมระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง 1 ปี 5 เดือน 16 วัน เนื่องจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดย “คณะทหารของชาติ” ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ ผลจากการทำรัฐประหาร ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งกำหนดให้ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทน และวุฒิสภา โดยเปลี่ยนชื่อจากคำว่า “พฤฒสภา” เป็น “วุฒิสภา” จึงถือได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่เริ่มใช้คำว่า “วุฒิสภา” และในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาจนถึงฉบับปัจจุบันก็ไม่ปรากฏ คำว่า “พฤฒสภา” อีกเลย