
ชวเลข : หัวใจสำคัญของการประชุมรัฐสภา คุณค่าแห่งการอนุรักษ์
ซันวา สุดตา | 11 สิงหาคม 2564
“...ชวเลข ถือเป็นหัวใจสำคัญของการประชุมรัฐสภา เกิดเคียงคู่มากับรัฐสภาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ผลผลิตสำคัญของการจดชวเลข คือ บันทึกการประชุมและรายงานการประชุม สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงและประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐสภา...”
จากกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์การสื่อสารและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในทางใด แต่มีสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่เลขานุการในที่ประชุมของรัฐสภาไทยมากว่า 89 ปี ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2475 จนปัจจุบัน คือ การจดบันทึกรายงานการประชุมด้วยชวเลข
ชวเลข หรือ Shorthand เป็นวิธีการเขียนข้อความอย่างย่อ โดยใช้สัญลักษณ์หรือคำย่อเพื่อแทนคำพูด เป็นการเขียนข้อความตามเสียงให้ทันคำพูดของผู้พูด โดยวิธีการลากปลายปากกาด้วยเส้นโค้งหรือขีด ตามเสียงที่พูด สามารถถอดข้อความคำพูดได้อย่างแม่นยำ ครบถ้วน และช่วยเพิ่มความเร็วในการจดบันทึกคำพูดนั้น

ความเป็นมาของชวเลข
“ชวเลข” เกิดขึ้นก่อนคริสตกาลประมาณ 63 ปี สมัยที่อาณาจักรโรมันรุ่งเรือง และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขณะนั้นมีนักการเมืองฝีปากเอกผู้หนึ่ง ชื่อ ซิเซโร (Cicero) เป็นผู้มีวาทะในการกล่าวปราศรัยที่จับใจผู้ฟัง จึงมีการคิดกันว่าหากมีการบันทึกหรือรวบรวมคำพูดของเขาไว้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในทางการเมืองและการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ของคนทั่วไป แทนที่จะปล่อยให้สูญหายไป มาร์คุส ตุลลิอุส ไทโร (Marcus Tulius Tiro) ซึ่งผู้รับใช้คนสนิทของไทโร เกิดความสนใจที่จะบันทึกคำพูดที่นายของเขาที่ปราศรัยต่อที่ชุมชนและอภิปรายในสภา ซึ่งเห็นว่า หากจะจดบันทึกคำพูดด้วยอักษรธรรมดานั้น คงไม่ทันแน่ ไทโรจึงใช้เริ่มประดิษฐ์คิดค้นเครื่องหมายต่าง ๆ ขึ้นแทนคำพูด จึงเป็นที่มาของชวเลขจนปัจจุบัน
“ชวเลข” ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบปิทแมน (Pitman) และแบบเกร็กก์ (Gregg) ทั้ง 2 แบบนี้เกิดขึ้นในอังกฤษ เรียกชื่อตามชื่อผู้ประดิษฐ์คิดค้น คือ เซอร์ ไอแซค ปิทแมน (Sri Isacc Pitman) และ จอห์น โรเบิร์ต เกร็กก์ (John Robert Gregg)

เซอร์ ไอแซค ปิทแมน (Sri Isacc Pitman)

จอห์น โรเบิร์ต เกร็กก์ (John Robert Gregg)
กำเนิดชวเลขในไทย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กระทรวงยุติธรรมสมัยนั้น ต้องการนักชวเลขเข้าจดคำให้การในศาลยุติธรรม จึงประกาศรับสมัครนักชวเลขเข้าทำงาน แต่ไม่มีผู้สมัครแม้แต่คนเดียว พระองค์จึงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “หากมีผู้ใดเขียนชวเลขได้และสามารถสอนนักเรียน จนสามารถเขียนชวเลขได้จนถึงขั้นเข้าจดคำให้การในศาลยุติธรรมได้ใน 1 ปี ไม่ต่ำกว่า 10 คน จะพระราชทานเงินรางวัล 10,000 บาท”
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนั้น ทรงรับอาสาโดยดัดแปลงชวเลขแบบปิทแมนภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยได้สำเร็จ และเริ่มสอนนักเรียนประมาณปลายปี พ.ศ. 2451 ถึงต้นปี พ.ศ. 2452 ภายในเวลา 8 เดือน สามารถสอนนักเรียนเขียนชวเลขได้นาทีละ 130 คำ จึงส่งเข้าสอบในศาลยุติธรรม ปรากฏสอบได้คราวนั้น 11 คน จึงได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานชวเลขในศาลยุติธรรม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นความสำคัญของวิชาชวเลข โดยให้นำชวเลขมาใช้จดพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และเทศนาเสือป่า ตลอดรัชกาลของพระองค์ ผู้เป็นนักชวเลขประจำพระองค์ คือ หลวงชวลักษณ์ลิขิต หรือดำเนิน จิตรกถึก ศิษย์ฝีมือเอกของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และเมื่อมีการเปิดโรงเรียนพาณิชยการขึ้น วิชาชวเลขแบบปิทแมนได้รับการบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย
สำหรับวิชาชวเลขแบบเกร็กก์ นำมาใช้ในไทย โดยหลวงมิตรธรรมพิทักษ์ หรือวงศ์ เศวตเลข ผู้แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ในขณะที่รับราชการกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นได้มีนำมาเผยแพร่และสอนตามโรงเรียนชวเลขและพิมพ์ดีดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร โดยบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนพาณิชยการเช่นเดียวกับวิชาชวเลขแบบปิทแมน
ต่อมาการใช้ชวเลขถูกลดความจำเป็นลงไป และเริ่มหายไปจากวงการหรืออาชีพต่าง ๆ ซึ่งสมัยก่อนเคยใช้ชวเลขกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่งานเลขานุการ ผู้สื่อข่าว ไปจนกระทั่งศาลยุติธรรม เนื่องจากมีการนำเอาเครื่องบันทึกเสียง คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาใช้งานแทนที่มากขึ้น เพราะสามารถเก็บรายละเอียดได้ทุกคำพูดเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง แต่ความจำเป็นดังกล่าวยังมีอยู่ในสถานที่แห่งเดียวในปัจจุบัน คือ รัฐสภาไทย

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

นักชวเลขยุคแรกของรัฐสภา
การจดชวเลขในการประชุมสภา
ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเป็นครั้งแรกขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475
ในการประชุมสภานั้น จำเป็นต้องนำนักชวเลขมาจดบันทึกคำอภิปรายของสมาชิก เพื่อนำไปจัดทำบันทึกการประชุมและรายงานการประชุม ขณะนั้นสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีนักชวเลขเป็นของตนเอง จึงได้ขอยืมตัวหลวงชวเลขปรีชา และนายสิงห์ กลางวิสัย มาช่วยจดชวเลขไปพลางก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้น และมีงบประมาณเป็นของตนเองแล้ว จึงเริ่มบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพนักงานชวเลข หนึ่งในนั้น คือ นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานชวเลขชั้นรองผู้รักษาการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 เมื่อนายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นความสำคัญจำเป็นของการจดชวเลข จึงจัดให้มีการสอนวิชาชวเลขแก่ข้าราชการและผู้เข้าสมัครฝึกงานในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยมีพนักงานชวเลขเป็นผู้ฝึกสอน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน ฯ ได้เห็นความสำคัญและเส้นทางความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติงานด้านชวเลข โดยปรับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็นลำดับ จาก “เจ้าหน้าที่ชวเลข” เป็น “เจ้าพนักงานชวเลข” และเป็น “เจ้าพนักงานจัดทำรายงานการประชุม” สังกัดสำนักรายงานการประชุมและชวเลข ในปัจจุบัน


ปัจจุบันมีการนำอุปกรณ์สื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เครื่องบันทึกเสียงและคอมพิวเตอร์ มาเป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานมากขึ้น วิชาชวเลขจึงถูกมองว่าเป็นวิชาที่ล้าสมัย ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเหมือนที่ผ่านมา การเรียนการสอนตามสถาบันการศึกษาและการนำมาใช้ในงานด้านต่าง ๆ เริ่มลดน้อยลง คงมีเพียงรัฐสภาไทยที่ยังมีความจำเป็นต้องมีการจดชวเลขเพื่อจัดทำบันทึกประชุมและรายงานการประชุม และสนับสนุนภารกิจสำคัญ ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ได้แก่ การออกกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินฝ่ายบริหาร และการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่มีผลต่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อจะเก็บบันทึกเป็นหลักฐาน สำหรับศึกษาค้นคว้า อ้างอิง พัฒนากฎหมายและการดำเนินการของรัฐสภาและองค์กรอื่น ๆ ในโอกาสต่อไป



ชวเลข : คุณค่าแห่งการอนุรักษ์
“ชวเลข” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการประชุมรัฐสภา เกิดเคียงคู่มากับรัฐสภาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ผลผลิตสำคัญของการจดชวเลข คือ บันทึกการประชุมและรายงานการประชุม สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงและประโยชน์ ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐสภาในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย
แม้ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ แต่ตัวบุคคลผู้ที่ทำหน้าที่จดชวเลขผู้ทรงซึ่งคุณค่า และยังมีความสำคัญจำเป็นสำหรับการประชุมรัฐสภาและการประชุมอื่น ๆ ในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติของรัฐสภา ดังนั้น เราควรให้การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาให้บุคคลเหล่านี้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพและการปฏิบัติงาน ถึงเวลาแล้วที่ควรร่วมกันอนุรักษ์วิชาชวเลข และการจดชวเลขให้คงอยู่กับสังคมไทยและรัฐสภาไทยสืบไป

ภาพประกอบบางส่วนจาก : https://th.wikipedia.org