
คำว่า “ฉบับ” กับ “ฉะบับ” สำคัญไฉน?
ซันวา สุดตา | 14 กุมภาพันธ์ 2565
“... จะเห็นได้ว่า คำว่า “ฉบับ” กับคำว่า “ฉะบับ” นั้น มีการนำไปใช้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของการนำไปใช้ด้วย...”
วันนี้ไม่ได้ประสงค์ที่จะมาอธิบายการเขียนคำผิดหรือคำถูกเกี่ยวกับคำว่า “ฉบับ” กับคำว่า “ฉะบับ” แต่อย่างใด แต่จะมาพูดถึงชื่อเรียกที่เป็นลักษณนามของรัฐธรรมนูญ ทั้ง 20 ฉบับ โดยคำว่า “ฉบับ” กับ “ฉะบับ” คณิณ บุณสุวรรณ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ชื่อเรียกที่เป็นลักษณนามของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และกฎหมายอื่น” โดยตัวอย่างที่เรียกรัฐธรรมนูญเป็นฉบับนั้น เช่นข้อความในวรรคห้า ของคำปรารภในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ว่า
“จึงมีพระราชโองการดํารัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป”
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จะไม่มีคำว่า “ฉบับ” ปรากฏอยู่ที่ชื่อรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 เป็นต้น ส่วนรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะมีคำว่า “ฉบับ” หรือ “ฉะบับ” อยู่ด้วย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นต้น ทั้งนี้ มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ไม่มีคำว่า “ฉบับ” แต่ใช้คำว่า “ชั่วคราว” ในชื่อรัฐธรรมนูญแทน คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยนั่นเอง
ส่วนรัฐธรรมนูญที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น นอกจากจะมีคำว่า “(ฉบับที่ ...)” แล้วยังมีคำว่า “แก้ไขเพิ่มเติม” ต่อท้ายชื่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2535 รัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2554 เป็นต้น
สำหรับพระราชบัญญัติก็เช่นเดียวกัน จะใช้คำว่า “ฉบับ” ก็ต่อเมื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติฉบับแรกที่ประกาศใช้ใหม่ทั้งฉบับ แต่ถ้าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมก็จะมีคำว่า (ฉบับที่ ...) ต่อท้าย และนำหน้า พ.ศ. ... ด้วย เช่น พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2563 เป็นต้น
ส่วนพระราชบัญญัติที่ประกาศใช้ใหม่ทั้งฉบับและเป็นฉบับแรก จะไม่มีคำว่า “ฉบับ” หรือ (ฉบับที่ ...) ต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติ เช่น พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า คำว่า “ฉบับ” กับคำว่า “ฉะบับ” นั้น มีการนำไปใช้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของการนำไปใช้ด้วย ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าวหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในด้านเพื่อศึกษา เรียนรู้ ซึ่งผู้อ่านสามารถเรียกชื่อได้ถูกต้องทั้งรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับชั่วคราว และรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงพระราชบัญญัติที่ประกาศใช้ใหม่ทั้งฉบับและเป็นฉบับแรก การแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติฉบับแรกที่ประกาศใช้ใหม่ทั้งฉบับ และการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นบางส่วน