
รัฐสภาสาร ฉบับปฐมฤกษ์
อรพรรณ สินธ์ศิริมานะ | 14 กุมภาพันธ์ 2565
“...รัฐสภาสาร ฉบับปฐมฤกษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ระบอบเสรีประชาธิปไตย เพื่อเสนอข่าวสารวิชาการในวงงานของรัฐสภาและอื่น ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ...”
รัฐสภาสาร เป็นวารสารเพื่อเผยแพร่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อเสนอข่าวสารวิชาการในวงงานรัฐสภาและอื่น ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งรัฐสภาสารได้ออกฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2495
จุดเริ่มต้นของรัฐสภาสาร
นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและอดีตเลขาธิการรัฐสภา (20 ธันวาคม 2503 – 30 กันยายน 2514) ได้บันทึกความเป็นมาของการออกหนังสือรัฐสภาสารไว้ในหนังสือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475 – 2517) ไว้ดังนี้
“จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะเผยแพร่การปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในด้านสภาผู้แทนราษฎรนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนสนใจในการฟังการประชุมสภามาก แต่สถานที่ที่จะให้ประชาชนเข้าฟังการประชุมมีอยู่จำกัด จึงได้แนะนำให้ทางสภาจัดทำเป็นเอกสารขึ้น เพื่อโฆษณาข่าวสารงานของรัฐสภาอันเป็นการเผยแพร่วิธีการปกครองระบอบประชาธิปไตยทางด้านนิติบัญญัติอีกทางหนึ่ง โดยให้จ่ายเงินในการทำเอกสารนี้จากงบประมาณประจำปี
ประธานสภาฯ ได้ปรึกษาหารือกับเลขาธิการสภาและเจ้าหน้าที่ในสภาเป็นอันตกลงให้ออกหนังสือฉบับหนึ่งเป็นรายเดือน เรียกว่า “รัฐสภาสาร” มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเสนอข่าวสารวิชาการในวงการของสภาและข่าวสารอื่น ๆ ที่สำคัญ ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ หนังสือนี้ได้ส่งไปแจกแก่ห้องสมุดประจำอำเภอทุกอำเภอตลอดจนหน่วยราชการทั่ว ๆ ไป ที่แสดงความจำนงขอมาเพื่อนำไปเผยแพร่ ผู้ดำเนินการหนังสือรัฐสภาสาร ได้แก่ เลขาธิการและเจ้าหน้าที่ของสภา ที่มีความรู้ความสามารถพอจะดำเนินงานได้ หนังสือรัฐสภาสารได้ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2495 ตลอดมาจนบัดนี้”

มีอะไรใน รัฐสภาสาร ฉบับปฐมฤกษ์
รัฐสภาสาร ปีที่ 1 เล่มที่ 1 ฉบับปฐมฤกษ์ ธันวาคม 2495 ได้นำเสนอเรื่องราวน่าสนใจปรากฏในสารบาญ ดังนี้
1. คำถวายพระพรชัยมงคล โดย กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
และพระประจนปัจจนึก (พุก มหาดิลก) ประธานสภาผู้แทนราษฎร
2. ราชสดุดี เป็นบทประพันธ์ร้อยกรองประเภทฉันท์ โดย คณะหนังสือรัฐสภาสาร
3. คำขวัญของท่านนายกรัฐมนตรี เป็นคำขวัญแสดงความยินดีแก่รัฐสภาสาร โดย จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
4. อารัมภบท โดย พระประจนปัจจนึก (พุก มหาดิลก) ประธานสภาผู้แทนราษฎร
5. คำขวัญ โดย พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ราชธรรมนิเทศ) รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
และพลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2
6. คำนำ โดย นายเจริญ ปัณฑโร เลขาธิการรัฐสภา หัวหน้าคณะอำนวยการ
7. สดุดีประชาธิปไตย เป็นบทประพันธ์ร้อยกรองประเภทฉันท์ โดย คณะหนังสือรัฐสภาสาร
8. ปฐมฤกษ์รัฐสภาสาร เป็นบทประพันธ์ร้อยกรองประเภทฉันท์ โดย วงศ์ เชาวนกะวี
9. ประวัติและพระราชประสงค์ในการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม (ไม่ปรากฏผู้แต่ง)
10. ผู้ยืนบนจุดประชาธิปไตย เป็นภาพและคำกล่าวหนึ่งของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
11. ความเป็นมาของรัฐสภาไทย โดย นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์
12. พรรคการเมือง โดย ดร.หยุด แสงอุทัย
13. ยาสำหรับพิสูจน์ความจริง โดย พันตำรวจเอก พัฒน์ นิลวัฒนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
14. ไพร่ฟ้าหน้าใส โดย เสฐียรโกเศศ
15. รัฐบุรุษตัวอย่างของอังกฤษ โดย สุวิชช พันธเศรษฐ
16. สหภาพรัฐสภา โดย ภราดา บุรณศิริ
17. การแบ่งโบราณวัตถุออกเป็นสมัย โดย ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์
18. ประชาธิปไตยเมื่อ 2,000 ปี ล่วงมาแล้ว โดย อาสา ทรัพย์อนันต์
19. การลงโทษและอบรมผู้ทอดทิ้งเด็ก โดย ส.สวัสดี (ผู้แปล)
20. ปูศึก โดย นายสกุล (ผู้แปล)
21. บันทึกข่าว (ไม่ปรากฏผู้แต่ง)
22. เบื้องหลังรัฐสภาสาร โดย บรรณาธิการ

เรื่องน่ารู้
รัฐสภาสารฉบับปฐมฤกษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ระบอบเสรีประชาธิปไตย เพื่อเสนอข่าวสารวิชาการในวงงานของรัฐสภาและอื่น ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ กำหนดอัตราค่าบำรุง 6 เดือน 25 บาท หนึ่งปี 50 บาท จำหน่ายปลีกเล่มละ 5 บาท
ตราสัญลักษณ์ของรัฐสภาสาร ประกอบด้วย รัฐสภาสาร พานรัฐธรรมนูญ และภาษิตภาษาบาลี สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา แปลว่า ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ ซึ่งภาษิตนี้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงนิพนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อนำไปเป็นพระคาถาจารึกบนตราแผ่นดิน (ตราอาร์ม) และปรากฏในพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระบรมราชาธิบายว่าด้วยเรื่องความสามัคคี
รัฐสภาสารในปัจจุบัน
รัฐสภาสารได้ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสารตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรกเริ่ม ฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เดือนธันวาคม 2495
จนถึงปัจจุบัน สามารถสืบค้นรัฐสภาสารฉบับต่าง ๆ ได้จาก
1. Website หอสมุดรัฐสภา
https://library.parliament.go.th/th/resources/journalsnewsletters
2. Website สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/more_news.php?cid=5012&filename=mediabook
รัฐสภาสาร ฉบับปฐมฤกษ์ จัดเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา เป็น 1 ในวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญ ซึ่งจะได้มีโอกาสนำมาจัดแสดงให้แก่ผู้สนใจในโอกาสต่อไป
