
องค์บรมราชินี คู่พระบารมี พระปกเกล้า
ซันวา สุดตา | 11 พฤศจิกายน 2564
“...พระองค์คือ พระราชินีคู่ทุกข์คู่ยากของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง ทรงดำรงชีวิตคู่ทั้งในฐานะพระมเหสีและพระอภิบาลมาตลอด เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง...”
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์อาภาพรรณี พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ หรือเรียกกันในหมู่ผู้ใกล้ชิดว่า “ท่านหญิงนา”
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงเป็นพระราชินีพระองค์แรกแห่งระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย มีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยประชาธิปไตย ทรงมีความรัก ความห่วงใยปวงประชาไม่น้อยไปกว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์คือ พระราชินีคู่ทุกข์คู่ยากของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง ทรงดำรงชีวิตคู่ทั้งในฐานะพระมเหสีและพระอภิบาลมาตลอด เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง ดังคำประกาศสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 ความตอนหนึ่งว่า
“...ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ได้ทรงประจักษ์แจ้งความซื่อตรงจงรักของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีอันมีต่อพระองค์ ได้ตั้งพระหฤทัยสนองพระเดชพระคุณทั้งปฏิบัติวัฎฐากในเวลาเมื่อทรงมีสุขสำราญ และรักษาพยาบาลในเวลาเมื่อทรงพระประชวร แม้เสด็จไปประทับอยู่ทุรสถานต่างประเทศ ก็อุตส่าห์ทรงเสด็จติดตามไปมิได้ย่อท้อต่อความยากลำบาก ควรนับว่า ได้เคยเป็นคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นนิรันดร จะหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้...”


พระองค์ทรงเคียงข้าง แม้คราวคับขันเมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 ขณะที่ประทับอยู่พระราชวังไกลกังวล
หัวหิน และทรงกราบทูลเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหารือ “...เราต้องกลับกรุงเทพฯ ให้ได้...”
ด้วยน้ำพระทัยที่เด็ดเดี่ยวมั่นคง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้ว่า “...ผู้หญิงเขาเลือกความตายดีกว่าการเสียศักดิ์ศรี
เท่านั้นพอแล้วสำหรับฉัน...”
พระองค์เสด็จไปพร้อมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประทับที่ประเทศอังกฤษ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เพื่อไปทรงรับการรักษาพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย “พระราชบันทึกทรงเล่า” กล่าวว่า
“ถ้าจะพูดกันแล้วในตอนนั้น ทางรัฐบาลเขาก็ไม่อยากให้ไปเหมือนกัน แต่ท่านไม่สบายจริง ๆ หมอบอกว่าพระเนตรอีกข้างจะบอดอยู่แล้ว
ให้เสด็จไปรักษาเสีย ก็เลยตัดสินพระทัยไป” ซึ่งหนังสือเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ความตอนหนึ่งว่า
“แล้วใครจะรู้เล่าว่า นั้นเป็นการเสด็จไปโดยมิได้กลับมา...”


ในช่วงที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ
แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังทรงปรนนิบัติพระองค์ จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน
ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตื่นบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการทั่วไปดีขึ้นแต่พระบาทยังคงบวมอยู่
ทรงรู้สึกแจ่มใสเพราะอากาศเย็นกำลังสบาย ไม่หนาวจัด ทรงทราบถึงความปรารถนาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ในการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพระตำหนักเวนคอร์ตอีกครั้ง จึงทรงอนุญาตให้เสด็จไปยังพระตำหนักเวนคอร์ต ด้วยพระราชดำรัสที่ว่า
“…จะไปไหนก็ไป วันนี้ฉันรู้สึกสบายมาก” ซึ่งไม่ทราบว่าจะเป็นข้อความที่ตรัสเป็นครั้งสุดท้ายกับพระมเหสีของพระองค์
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันแล้ว นางพยาบาลส่วนพระองค์เล่าเหตุการณ์ต่อจากนั้นว่า
“เมื่อเสวยไข่ลวกเสร็จแล้ว ตรัสชมว่าอร่อย ต่อจากนั้นทรงขอพระเขนยมาหนุนพระหนุ แล้วทรงหลับพระเนตรนิ่งไป ไม่มีผู้ใดรู้ว่าเสด็จสวรรคตในนาทีใด”
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระตำหนักคอมพ์ตัน เมื่อเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ขณะนั้นมีหมอกลงจัด
คนขับรถต้องแล่นชะลอไปช้า ๆ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเล่าภายหลังว่า
“ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนขวางหน้ารถ ทรงรู้สึกสังหรณ์พระทัยทันที” แต่ก็ตรัสว่า “เห็นพิลึกแท้”
จนถึงครึ่งทางที่เมืองเมดสโตน (Maidstone) สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีจึงทรงพบตำรวจสกัดรถพระที่นั่ง เพื่อกราบทูลข่าวการเสด็จสวรรคตให้ทรงทราบนั้น


พระตำหนักคอมพ์ตัน
หลังจากนิราศจากเมืองไทยไปอยู่ต่างแดนเกือบ 20 ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพรรณี ต้องเสด็จนิวัติกลับเมืองไทยเพียงพระองค์เดียว พร้อมกับพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2492 ตามคำทูลเชิญของรัฐบาล พระองค์ทรงรับสั่งด้วยพระทัยอันมั่นคงว่า “ฉันไม่มีความประสงค์ที่จะมีชีวิตเข้าพัวพันกับกิจการการบ้านเมืองของไทยอีกเลย แต่ประสงค์ที่จะมีความเป็นอยู่ตามแบบหญิงไทยสามัญธรรมดา ด้วยการใช้ชีวิตอย่างเรียบ ๆ อยู่กับญาติของฉัน”

ภายหลังการนิวัติประเทศไทยแล้ว พระองค์ยังคงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลายครั้ง ต่อมาเสด็จย้ายไปประทับ ณ จังหวัดจันทบุรี ทรงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทรงดำเนินกิจการในด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และทรงพัฒนางานหัตถกรรม เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างและนำความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน นอกจากนี้ พระองค์ยังมีส่วนในการพัฒนาการสาธารณสุข และการศึกษาของพสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรี โดยรับเป็นพระราชภาระในการปรับปรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า รวมทั้งทรงตั้งมูลนิธิพระปกเกล้าเพื่อสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จนเจริญสืบมาจวบจนปัจจุบัน
การดำเนินชีวิตของพระองค์ ทรงเป็นแบบอย่างแก่กุลสตรีผู้ทรงเป็นพสกนิกรของพระองค์โดยทั่วไปพระราชกิจวัตรที่เปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตา และความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เป็นคุณธรรมอันประเสริฐที่เล่าขานกันไม่รู้จบ จวบทุกวันนี้
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
ภาพบางส่วนจาก www.kingprajadhipokmuseum.com/th