team-member


การยุบสภาครั้งแรกของไทย


สุทธิศักดิ์ ตัสโต | 10 มีนาคม 2566


...จากเหตุการณ์ดังกล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แม้จะแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) กับฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) จนกระทั่งเกิดการยุบสภาครั้งแรกของไทย แต่ก็ถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ...


“การยุบสภา” เป็นคำที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 21 บัญญัติว่า สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ (1) ถึงคราวออกตามวาระ หรือยุบสภา และ มาตรา 35 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาเช่นนี้ ต้องมีกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายใน 90 วัน” ซึ่งในขณะนั้นรัฐสภามีรูปแบบเป็นสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท มีจำนวนเท่ากัน คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 สถานการณ์ด้านการเมืองการปกครองของไทยแม้จะไม่ราบรื่น มีทั้งความขัดแย้งกันในสภาจนนำไปสู่การรัฐประหารเงียบ หรือปัญหาต่าง ๆ ภายในคณะกรรมการราษฎร แต่ยังไม่เคยมีเหตุการณ์ยุบสภาเกิดขึ้น จนกระทั่งในสมัยรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2481 รัฐบาลแพ้มติสภาเรื่องที่สภาเสนอให้รัฐบาลจัดทำรายละเอียดของงบประมาณที่ชัดเจนในการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณต่อสภา พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นการยุบสภาครั้งแรกของไทย

โดยเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การยุบสภาครั้งนั้น มีดังนี้

วันที่ 10 กันยายน 2481 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายถวิล อุดล ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะ ได้เสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 เกี่ยวกับวิธีการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณต่อสภา โดยให้รัฐบาลเสนอรายละเอียดทั้งรายรับและรายจ่ายตามงบประมาณนั้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ขั้นรับหลักการ เพื่อให้สมาชิกสภาได้พิจารณาก่อนมีมติ ซึ่งพระยาไชยยศสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงต่อสภาว่าไม่สามารถดำเนินการตามที่สมาชิกสภาเสนอมาได้ เนื่องจากรายละเอียดของงบประมาณนั้นมีมาก และต้องทำสำเนาเอกสารเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลาเสนองบประมาณ รวมทั้งจะสิ้นเปลืองรายจ่ายในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก สมาชิกสภาจึงได้มีการอภิปรายเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมสภากันอย่างกว้างขวาง และก่อนที่สภาจะลงมติว่าเห็นควรแก้ไขข้อบังคับฯ ตามที่เสนอมาหรือไม่นั้น พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาว่า รัฐบาลไม่สามารถจะปฏิบัติตามญัตติที่สมาชิกสภาเสนอมาได้ และหากสภาลงมติให้รับญัตตินี้ไว้พิจารณา รัฐบาลก็จะต้องลาออก จากนั้นที่ประชุมสภามีการลงมติด้วยวิธีลงคะแนนลับ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับญัตติดังกล่าว ด้วยคะแนน 45 ต่อ 31 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญไปพิจารณาต่อไป


พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

นายถวิล อุดล

พระยาไชยยศสมบัติ

ต่อมา เมื่อเลิกประชุมสภาวันดังกล่าว พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมลาออกจากตำแหน่งต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมรับใบลาออก โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์ของโลกในขณะนั้นอยู่ในช่วงคับขัน ประกอบกับรัฐบาลจะต้องเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 8) ที่จะเสด็จกลับสู่พระนคร รัฐบาลควรอยู่บริหารราชการต่อไป รัฐบาลจึงได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และมีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 11 กันยายน 2481 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ขึ้นใหม่ โดยวันถัดมาวันที่ 12 กันยายน 2481 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของไทย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน

อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ดังกล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แม้จะแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) กับฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) จนกระทั่งเกิดการยุบสภาครั้งแรกของไทย แต่ก็ถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน มีการยุบสภามาแล้วทั้งสิ้น จำนวน 15 ครั้ง ซึ่งเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 14 ครั้ง และยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 1 ครั้ง

team-member

จดหมายเหตุรัฐสภาไทย

เอกสารจดหมายเหตุของรัฐสภา มีความสำคัญในการเป็นหลักฐานทางกระบวนการนิติบัญญัติของชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา ...

team-member

ดุสิตธานี เมืองทดลองประชาธิปไตย

ดุสิตธานีถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไท สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต เช่น ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน...

team-member

งานฉลองรัฐธรรมนูญ - มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

เมื่อมี “งานพิธี” คือพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว “งานฉลอง” ก็ตามมา...

team-member

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งมีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 419 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง...

team-member

อาคารรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภา...

team-member

รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

“รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เป็นชื่อเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490...

team-member

ความเป็นมาของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...

team-member

ลงเบี้ย

ลงเบี้ย คือ วิธีการออกเสียงลงคะแนนลับในอดีตวิธีหนึ่งในการประชุมสภา โดยให้สมาชิกสภานำเบี้ย สีต่าง ๆ ไปใส่ภาชนะที่จัดไว้ซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้หีบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละฉบับ...

team-member

กฎหมายตราสามดวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “กฎหมายตราสามดวง” ว่าหมายถึง ประมวลกฎหมายโบราณของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช...

team-member

การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนา ซึ่งถือช่วงฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี...

team-member

คณะราษฎร

“คณะราษฎร” คือ กลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม...

team-member

ตราพระราชลัญจกรบนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย

พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ประทับในเอกสารต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชาดซึ่งเป็นวัตถุสีแดงชนิดหนึ่งผสมกับน้ำมัน สำหรับการประทับตรา...