คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวนโยบายด้านกฎหมาย การยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการดำเนินการที่สำคัญของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 มีขอบเขตงานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนางานด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ดังนี้
1. พิจารณา ศึกษาร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน
และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. ศึกษา กรณีการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3. พิจารณา ศึกษามาตรการทางกฎหมายและหลักปฏิบัติในการควบคุมการชุมนุมตามหลักสากลกรณีการสลายการชุมนุม
4. พิจารณา ศึกษาปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนด้านการครอบครองที่ดินในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
รวมทั้งคณะกรรมาธิการได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนทางการทูตระหว่างประเทศด้านกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
เช่น พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตและผู้แทนทางการทูตจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พบปะหารือที่ปรึกษาด้านการเมืองแห่งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
และการพบปะหารือกับรักษาการที่ปรึกษาทางด้านการเมืองสหรัฐอเมริกาและคณะ เป็นต้น
ตลอดจนคณะกรรมาธิการได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
1. ปัญหา และผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
2. การปฏิบัติ ตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์)
3. ญัตติ พิจารณาศึกษาปัญหานักโทษล้นเรือนจำ แนวทางการย้ายเรือนจำออกจากเขตชุมชนเมือง และการปรับปรุงการบริหารงานราชทัณฑ์ภายในเรือนจำทั่วประเทศให้มีสภาพที่เหมาะสม
สรุปผลงาน ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ซึ่งคณะกรรมาธิการได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ จำนวน 117 ครั้ง
โดยเชิญภาครัฐและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ รวมทั้งได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ
เพื่อปฏิบัติงานด้านวิชาการ พิจารณาปัญหาอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ จำนวน 2 คณะ คือ
1) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ
2) คณะอนุกรรมาธิการศึกษา การปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ตลอดจนได้ศึกษาดูงาน และจัดสัมมนาในพื้นที่ต่าง ๆ
เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับประชาชนรวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง