คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย การป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ตลอดระยะเวลาการดำเนินการของคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้ขับเคลื่อนภารกิจตามหน้าที่และอำนาจผ่านการดำเนินงานด้านการประชุม การศึกษาดูงาน การจัดสัมมนา และการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ โดยเน้นการพิจารณาศึกษาหรือกระทำกิจการเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน องค์กรตำรวจ และข้าราชการตำรวจ ตลอดจนเรื่องร้องเรียนของประชาชนหรือข้าราชการตำรวจ และเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสังคมเป็นสำคัญ ดังนี้
1. ติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในคดีสำคัญ คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนของประชาชน เพื่อเป็นการป้องปรามให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางที่ถูกต้อง ตลอดจนเป็นการบำบัดทุกข์ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการตำรวจ รวมทั้งเป็นการถอดบทเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานของตำรวจในภาพรวมต่อไป โดยคณะกรรมาธิการได้นำเสนอข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้การทำงานด้านกระบวนการยุติธรรมของตำรวจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ ข้อสังเกตต่อการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีไม่โต้แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการที่ไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต และการดำเนินการของพนักงานสอบสวนในคดีความผิด ซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำนอกราชอาณาจักรไทย
2. สนับสนุนการปฏิรูปกิจการตำรวจ โดยการพิจารณาศึกษาและติดตามความคืบหน้า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ตลอดจนเดินทางไปร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาต พ.ศ. .... และตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา เพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปกิจการตำรวจ
3. ส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นและเท่าทันต่ออาชญากรรมรูปแบบใหม่ ให้แก่ข้าราชการตำรวจ โดยการจัดสัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ให้แก่ข้าราชการตำรวจ อาทิ การสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การรับแจ้งความออนไลน์ และการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมข้ามชาติ
4. สนับสนุนภารกิจ ของตำรวจให้สัมฤทธิ์ผลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการผลักดันให้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ ให้ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว อาทิ ผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผลักดันให้มีการส่งมอบพื้นที่ในการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจนครบาลบางโพ(แห่งใหม่)และผลักดันให้มีการสนับสนุนระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และยานพาหนะให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในถิ่นทุรกันดาร รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
สรุปผลงาน ของคณะกรรมาธิการการตำรวจ ได้มีการประชุม จำนวน 89 ครั้ง ศึกษาดูงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติในระดับนโยบาย หน่วยปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และหน่วยปฏิบัติการเฉพาะทาง เช่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ด่านความมั่นคงและฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น รวมทั้งได้จัดสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้แก่ประชาชนและข้าราชการตำรวจในพื้นที่ 14 จังหวัดทั่วประเทศ และตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 2 คณะ
คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25
ได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้เป็นพิเศษ คือ
(1) การปฏิรูปกิจการตำรวจ
(2) นโยบายและภาพรวมการดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ
(3) ภาพรวมปัญหาอุปสรรคที่กระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงาน
(4) เรื่องร้องเรียนที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และเรื่องร้องเรียนที่ข้าราชการตำรวจไม่ได้รับความเป็นธรรม
จากการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชา และ
(5) เรื่องที่เป็นที่สนใจของสังคมและกระทบต่อภาพลักษณ์การปฏิบัติงานของตำรวจ โดยในเรื่องที่คณะกรรมาธิการได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกิจการตำรวจ หากมีการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรตำรวจ ประเทศชาติ และประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่กระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของตำรวจ เป็นเรื่องสำคัญที่คณะกรรมาธิการชุดที่ผ่านมา ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ได้มีส่วนในการติดตามและผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกิจการตำรวจอย่างแท้จริง รวมทั้งได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อองค์กรตำรวจและประชาชนอย่างต่อเนื่องจากคณะกรรมาธิการชุดที่ผ่านมา จึงมีทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการชุดต่อไป ดังนี้
1. ติดตามการดำเนินการปฏิรูปตำรวจ ตามแนวทางของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
2. ติดตามการแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่กระทบต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ปัญหาด้านกำลังพล
ปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย ปัญหาขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
3. ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชน เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566