คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน

คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน  สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง  หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานของศาล  องค์กรอิสระและองค์กรอัยการ การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ การบริหารจัดการขององค์การมหาชน และกองทุนต่าง ๆ รวมทั้งตรวจสอบรายงานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน  สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือการดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด โดยได้กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องต่าง ๆ ภายใต้กรอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ  ในรูปแบบของการประชุมคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการ การจัดสัมมนา การศึกษาดูงาน และการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของประชาชน โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

1. ตรวจสอบ การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ เช่น  การดำเนินนโยบายการจัดทำโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย บ้านเคหะสุขประชา ของการเคหะแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ขอให้พิจารณาไต่สวนและวินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2. ติดตาม การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน เช่น ความคุ้มค่าของการใช้งาน และการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ Eco Ranger ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
3. ศึกษา และตรวจสอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กองทุนประกันสังคม และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นต้น
4. พิจารณา สอบหาข้อเท็จจริงแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน เช่น การอนุญาตให้บริษัทเอกชนต่างชาติใช้เครื่องหมายการค้าตรานมไทย – เดนมาร์ค ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับทารก และการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระเบิด ในพื้นที่ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งทั้ง 2 กรณี คณะกรรมาธิการได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

สรุปผลงาน ของคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ  รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ประกอบด้วย การประชุมคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการ รวมจำนวน 263 ครั้ง การจัดสัมมนา จำนวน 27 ครั้ง การศึกษาดูงานในประเทศ จำนวน 32 ครั้ง การศึกษาดูงานต่างประเทศ จำนวน 1 ครั้ง และการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ จำนวน 296 เรื่อง สามารถจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาที่ได้รับมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนต่อไป จำนวน 1 เรื่อง และส่งเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยปรากฏผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 5 เรื่อง

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

จากการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการที่ผ่านมา พบว่า ขอบเขตหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลากหลายประเภท ทั้งหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนต่าง ๆ รวมกว่า 200 หน่วยงาน โดยแต่ละหน่วยงานต่างมีภารกิจ รูปแบบการบริหารจัดการ ตลอดจนกฎหมายเฉพาะที่แตกต่างกัน ทำให้คณะกรรมาธิการยังไม่สามารถติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ดังนั้น การพิจารณาของคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 จึงควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งควรกำหนดประเด็นการพิจารณาให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยมีจุดมุ่งเน้นที่สำคัญ ดังนี้

1. การติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน โดยมุ่งเน้นโครงการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูงและส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
2. การติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของกองทุนต่าง ๆ
3. การติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน โดยมุ่งเน้นประเด็นที่มีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน
4.การติดตาม และตรวจสอบปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับของหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระ  องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน  รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเกิดจากการถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คณะกรรมาธิการอื่นๆ