คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ

คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ  สภาผู้แทนราษฎร  มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ  ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ คณะกรรมาธิการชุดที่ผ่านมา ได้ดำเนินการพิจารณาศึกษาเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ โดยได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษานำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.  รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร กรณีสภาเขตและสมาชิกสภาเขต” ผลการศึกษา : กำหนดให้มีสภาเขตและสมาชิกสภาเขต โดยแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้าง ที่มา องค์ประกอบ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกสภาเขตและผู้อำนวยการเขตเพื่อให้มีความยึดโยง กับพื้นที่และประชาชน สามารถสะท้อนปัญหาของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของสภาเขตให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานครและประชาชน

2. รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง  “การจัดตั้งเทศบาลนครแหลมฉบังเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ผลการศึกษา : การจัดตั้งเทศบาลนครแหลมฉบังเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) และยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล หากสามารถเชื่อมโยงรูปแบบและกลไกการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่พื้นที่และยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ

3. รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง  “ข้อเสนอเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ผลการศึกษา : เสนอให้รัฐบาลโดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น “เป็นวาระแห่งชาติ” เพื่อทำให้ฐานท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน  ให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาชุมชนร่วมกันใช้แผนแม่บทชุมชนและแผนพัฒนาท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาตนเองโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก

4. รายงานการศึกษา เรื่อง  “การบริหารราชการรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง (Self-governing-province)” ผลการศึกษา : เสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างระบบการบริหารราชการแผ่นดิน  โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนบทบาท หน้าที่ อำนาจ และความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการ ยังได้พิจารณาประเด็นอื่น ๆ อาทิ  การพิจารณาเร่งรัดให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ  การพิจารณาให้ความช่วยเหลือปัญหาการบรรจุครูผู้ดูแลเด็กในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพิจารณาตรวจสอบกระบวนการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่น และการสรรหาข้าราชการท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งสายงานบริหาร ประจำปี พ.ศ. 2564

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

จากผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย  เกิดจากข้อจำกัดด้านกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจและความเป็นอิสระของการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องหน้าที่อำนาจ การเงินการคลัง การบริหารงานบุคคล

ทิศทาง ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการชุดต่อไป จึงควรให้ความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจเพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจเพิ่มมากขึ้น
3. การส่งเสริม ให้เกิดการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
4. การส่งเสริม ให้เกิดการบริหารราชการในรูปแบบใหม่ เช่น การบริหารราชการรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง (Self-governing-Province)

คณะกรรมาธิการอื่นๆ