คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ มีหน้าที่และอำนาจกระทำการพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริงหรือเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับปัญหาในด้านความมั่นคงแห่งรัฐ ด้านกิจการชายแดนไทย และด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ผลดำเนินงาน ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ประกอบด้วย การประชุมพิจารณาประเด็นต่าง ๆ จำนวน 113 ครั้ง ศึกษาดูงานในประเทศ จำนวน 24 ครั้ง การสัมมนา จำนวน 31 ครั้ง โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 10 คณะ และคณะทำงาน จำนวน 1 คณะ ซึ่งการดำเนินการของคณะกรรมาธิการ สามารถจำแนกเป็น 3 มิติ คือ มิติด้านความมั่นคง จำนวน 21 เรื่อง มิติด้านกิจการชายแดนไทย จำนวน 17 เรื่อง และมิติด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ จำนวน 29 เรื่อง พร้อมทั้งได้มีการเสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกอบการพิจารณา จำนวน 7 เรื่อง และเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 เรื่อง สำหรับประเด็นการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการทั้ง 3 มิติ มีประเด็นที่สำคัญที่ขับเคลื่อน ดังนี้

1. ด้านความมั่นคงแห่งรัฐ กรณีปัญหาการมีผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมา ตกค้างอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากและยาวนานกว่า 37 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งทั่วประเทศ คณะกรรมาธิการจึงศึกษาเรื่องดังกล่าวและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหา คือ สำหรับผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ที่ยังไม่สามารถส่งตัวไปยังประเทศที่สามหรือส่งกลับไปประเทศต้นทางได้ ควรให้มีการส่งเสริมสร้างอาชีพ การสอนภาษาไทยเพื่อใช้ในการสื่อสาร การพิจารณาให้สถานะทางกฎหมายที่เหมาะสม และการพัฒนาศักยภาพของผู้ลี้ภัย เพื่อรองรับการเป็นตลาดแรงงานภายในประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย

2. ด้านกิจการชายแดนไทย กรณีของการพัฒนาด่านชายแดน และที่ดินในพื้นที่ซึ่งไม่มีประเทศใดอ้างสิทธิ์ครอบครอง (No Man’s Land) บริเวณชายแดน เช่น พื้นที่เกาะกลางแม่น้ำเมย บริเวณตลาดริมเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก การปักปันเขตแดนและเกาะ แก่ง และดอนที่เกิดขึ้นใหม่ตามแนวชายแดนณ จังหวัดบึงกาฬ และการเปิดด่านชายแดนระหว่างประเทศ เช่น ด่านกิ่วผาวอก จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน คณะกรรมาธิการได้ทำการศึกษาและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยที่เกี่ยวข้อง คือ การใช้เวทีการเจรจาระหว่างประเทศ และการประสานความร่วมมือในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

3. ด้านยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมาธิการติดตามความคืบหน้า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานราชการและประเมินผลแผนพัฒนาระดับพื้นที่ภายใต้แผนแม่บทว่าหน่วยราชการดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยเล็งเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV conversion) อุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle:UAV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการของประเทศไทย มีศักยภาพเพียงพอต่อการแข่งขันในตลาด โดยมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ตลอดจนการกำกับและดูแลให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการใช้งานของภาคเอกชน  รัฐต้องมีนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริม เช่น มาตรการด้านภาษี การสนับสนุนการวิจัย เป็นต้น

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่าคณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ โดยมีประเด็นที่ให้ความสำคัญในการพิจารณาซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางการพิจารณาว่าได้ให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงแห่งรัฐ  ด้านกิจการชายแดนไทย และด้านยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอด การดำเนินการตามประเด็นที่คณะกรรมาธิการได้มีความเห็น และข้อเสนอแนะในแต่ละด้านไว้แล้ว และมีประเด็นที่ยังค้างการพิจารณา จึงมีข้อเสนอเพื่อเป็นทิศทางการดำเนินการของคณะกรรมาธิการชุดต่อไป ดังต่อไปนี้

1. ด้านความมั่นคงแห่งรัฐ
1.1 ปัญหาความมั่นคงในชีวิตของประชาชนจากภัยคุกคามแบบใหม่ ได้แก่ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะการถูกหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์
1.2 ปัญหา การลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของไทย
2. ด้านกิจการชายแดนไทย
2.1 การเร่งรัด การพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุนภายในพื้นที่บริเวณชายแดนไทยอย่างยั่งยืน
2.2 การแก้ปัญหา ข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
3. ด้านยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ
3.1 การติดตาม ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ของหน่วยงานราชการ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนต่าง ๆ
3.2 การเร่งรัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการชุดที่ผ่านมา เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV conversion) และอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) ของไทย เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคและให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก

คณะกรรมาธิการอื่นๆ