คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน การส่งเสริมและเผยแพร่การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วิถีคิดและวิถีปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เสรีภาพและความรับผิดชอบ ในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน การคุ้มครองผู้เสียหายจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
อัตลักษณ์ที่สำคัญของคณะกรรมาธิการ คือ การพัฒนาการเมืองของประเทศให้มีความโปร่งใส เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน ส่งเสริมสื่อมวลชนให้มีเสรีภาพและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีความถูกต้อง สร้างความตระหนักรู้และความรับผิดชอบในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง โดยผ่านการดำเนินงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการในรูปแบบการประชุม จำนวน 126 ครั้ง การจัดสัมมนา จำนวน 88 ครั้ง การศึกษาดูงานภายในประเทศ จำนวน 59 ครั้ง และการศึกษาดูงานต่างประเทศ จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งมีตัวอย่างผลสำเร็จของงานที่คณะกรรมาธิการดำเนินการ ดังนี้
1. การศึกษาด้านการพัฒนาการเมือง เช่น จัดทำโครงการอาสาพัฒนาการเมือง การเลือกตั้ง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งให้มีความสุจริตเที่ยงธรรม และสร้างกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้งโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การพัฒนาพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง และส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง
2. การศึกษาด้านการสื่อสารมวลชน เช่น ศึกษาประเด็นปัญหาสังคมที่เกิดจากปัญหาการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจนนำไปสู่ข้อเสนอแนะให้สื่อมวลชนตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้มีความถูกต้องก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชน เสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อป้องกันการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือน และนิยาม หรือจำแนกประเภทคำที่เกี่ยวข้องกับข่าวปลอมให้มีความชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนเสนอแนะความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน
3. การศึกษาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จนนำไปสู่การประสานความร่วมมือระหว่างประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะได้มากยิ่งขึ้น การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้มีมาตรฐาน โดยนำเสนอต้นแบบของแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาช่องทางการรับฟังความคิดเห็นและเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน
จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาศึกษาในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ โดยมีประเด็นที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญในการพิจารณาศึกษา ดังนี้
1. ด้านการพัฒนาการเมือง เช่น
ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งในการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้มีความสุจริตและเที่ยงธรรม
และสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยประสานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย
2. ด้านการสื่อสารมวลชน เช่น การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และการแก้ปัญหาข่าวปลอม
3. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการของรัฐ
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26
จึงควรพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านการพัฒนาการเมือง เห็นควรให้ความสำคัญการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ
เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. ด้านการสื่อสารมวลชน เห็นควรให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และความรับผิดชอบของสื่อมวลชนต่อสังคมและประชาชน
3. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เห็นควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ในการติดตามการดำเนินโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง