คณะกรรมาธิการการทหาร

คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร  มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการทหาร การป้องกัน การรักษาความมั่นคงและการพัฒนาประเทศ อัตลักษณ์สำคัญของคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 คือ การศึกษาพิจารณาปัญหาในรูปแบบการประชุมพิจารณา การสัมมนา การศึกษาดูงาน และการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของกองทัพ กำลังพลทางทหาร ที่มีกรณีพิพาทกับทหารหรือประชาชน โดยมีขอบเขตงานที่สำคัญ คือ

1. สนับสนุนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ  และแนวทางการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ทั้งของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานภาคเอกชน
2. วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศ สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคของโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย
3. วิเคราะห์สถานการณ์ ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดน และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
4. แก้ไขปัญหา ที่ได้รับการร้องเรียนจากบุคคลที่เกิดข้อพิพาทกับหน่วยงานหรือบุคลากรทางการทหาร

สรุปผลงานของคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ประกอบด้วย ผลงานการประชุมพิจารณาประเด็นปัญหาต่าง ๆ จำนวน 90 ครั้ง ผลงานการจัดการสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน บุคลากรของภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ จำนวน 50 ครั้ง โดยรวมจำนวนประชากร กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประมาณกว่า 10,000 คน ผลงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียนอันนำไปสู่การแก้ปัญหารวม 20 เรื่อง โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมให้ข้อมูล และการแก้ไขปัญหาร่วมกับคณะกรรมาธิการ จำนวน 12 หน่วยงาน และผลการตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา  จำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย
(1) คณะอนุกรรมาธิการด้านการป้องกันประเทศ การปฏิบัติการด้วยกำลังทหาร และการพัฒนา
(2) คณะอนุกรรมาธิการด้านการเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่มีการพิจารณาในคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ โดยมีประเด็นที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญในการพิจารณา  ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มและทิศทางการพิจารณาที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญ 3 ลำดับแรก คือ
(1) การติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(2) การติดตามผลกระทบจากปัญหาภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
(3) การติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากที่ทำกินที่เกี่ยวพันกับพื้นที่ของกองทัพในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการที่มีการศึกษาพิจารณาน้อยกว่าประเด็นอื่น ๆ คือ
(1) สิทธิของกำลังพลที่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร
(2) การจัดสรรงบประมาณของกองทัพ รวมถึงการจัดสรรอาวุธ ยุทโธปกรณ์ให้เกิดความคุ้มค่า

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 จึงควรพิจารณาในประเด็นต่างๆ อย่างครบถ้วน และกระจายความถี่ของการพิจารณาอย่างสมดุล โดยมีข้อเสนอดังนี้

1. การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านความมั่นคง
1.1 สถานการณ์ ด้านความมั่นคงบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
1.2 สถานการณ์ ด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1.3 สถานการณ์ ด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชียตะวันออก
1.4 สถานการณ์ ด้านความมั่นคงภูมิภาคทะเลจีนใต้
1.5 สถานการณ์ ด้านความมั่นคงสาธารณรัฐรัสเซีย-ประเทศยูเครน

2. แนวทางการพัฒนาด้านการเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ
2.1 การพัฒนาเกี่ยวกับการเสริมสร้างขวัญกำลังใจและสวัสดิการให้กับกำลังพลของกองทัพ
2.2 การพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทัพและหน่วยงานภาคเอกชนในการแสวงหา ความร่วมมือด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการจัดหา การผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ขึ้นใช้ภายในประเทศ โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทด้านการผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ขึ้นใช้เองภายในประเทศ ตลอดจน ลดการนำเข้าวัสดุการผลิตจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด ประกอบด้วย
- ข้อจำกัดด้านภาษีให้กับภาคเอกชนในการผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์
- กองทัพให้การสนับสนุนกับภาคเอกชนให้เข้ามาผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดีกว่าการนำเข้าอาวุธ ยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ
- กองทัพจัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศเข้าประจำการในกองทัพให้มากขึ้น

คณะกรรมาธิการอื่นๆ