คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งประสานกับองค์กรภายในประเทศ ต่างประเทศ และประชาคมนานาชาติเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ตลอดอายุของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 คณะกรรมาธิการคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจและกฎหมาย ส่งเสริมและแสวงหาแนวทางเพื่อลดภาระของรัฐอันเนื่องมาจากการจำกัดสิทธิต่าง ๆ ตามบทกฎหมายที่สร้างขึ้นแต่เพิ่มสิทธิและการเข้าถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ให้แก่ประชาชน อีกทั้งหามาตรการในการคุ้มครองความเป็นพลเมืองไทยอย่างเท่าเทียม ผลการดำเนินงานโดยสรุป ประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ จำนวน 102 ครั้ง จัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 87 ครั้ง มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 44,665 คน ศึกษาดูงานในประเทศ เพื่อนำผลมาประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานผลการศึกษา จำนวน 17 ครั้ง และการรับรองแขกต่างประเทศเพื่อหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน จำนวน 2 ครั้ง
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีเป้าหมายและมุ่งหวังการส่งเสริม และอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกละเลยจากรัฐ ซึ่งมีมากกว่า 6 ล้านคน ตามเจตนารมณ์ขอรัฐธรรมนูญที่วางหลักการให้รัฐพึงส่งเสริม และให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน
ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย จึงทำการพิจารณาศึกษาโดยเข้าไปสัมผัสรับรู้ รับทราบปัญหา ความต้องการ เมื่อได้ข้อมูลมากพอจึงจัดทำเป็นรายงานผลการพิจารณาศึกษาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนศึกษาประเด็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรงคือ การบังคับใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รวมถึงมาตรการทวงคืนผืนป่าของภาครัฐ เพื่อแสวงหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิของบุคคลอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณี การให้มีกฎหมายรับรองสิทธิของบุคคลในการใช้คำนำหน้านามของผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือการหาแนวทางในการถอนข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 22 เพื่อยกระดับของประเทศไทยบนเวทีระหว่างประเทศ และผลักดันแนวทางการจัดทำงบประมาณแผ่นดินโดยคำนึงถึงมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting : GRB) เป็นต้น
จากการวิเคราะห์ประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า ยังมีประเด็นที่ควรพิจารณาศึกษา ขับเคลื่อน ผลักดันให้เกิดผลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และกฎหมาย ส่งเสริมและแสวงหาแนวทางเพื่อลดภาระของรัฐ อันเนื่องมาจากการจำกัดสิทธิต่าง ๆ ตามบทกฎหมายที่สร้างขึ้น แต่เพิ่มสิทธิและการเข้าถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ให้แก่ประชาชน อีกทั้งหามาตรการในการคุ้มครองความเป็นพลเมืองไทยอย่างเท่าเทียม ดังนี้
1. การลดความเหลื่อมล้ำ
โดยการผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ การรับรองสิทธิของบุคล ในการเลือกใช้คำนำหน้านามตามเพศสภาพของบุคคล
การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณี เพื่อมุ่งหมายคุ้มครองผู้ค้าประเวณี การจัดทำงบประมาณแผ่นดินโดยคำนึงถึงมิติเพศภาวะ
(Gender Responsive Budgeting: GRB) เป็นต้น
2. การพิทักษ์และปกป้องสิทธิของบุคคล โดยการศึกษาเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์
และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ปัญหาการบังคับใช้
3. การมีบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในฐานะพลเมืองของโลกที่ไร้พรมแดนทั้งเรื่องการยุติภาวะบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
การถอนข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 22 ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังคงไว้