คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน การแก้ไขปัญหาอุปสรรค และการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย
อัตลักษณ์สำคัญของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการคือ การศึกษาพิจารณาในรูปแบบการประชุมพิจารณา การสัมมนา การศึกษาดูงาน และการแก้ไขปัญหา ข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของภาคประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โดยมีขอบเขตและแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
1. ส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ทั้งในด้านสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพสูงและยั่งยืนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ พัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความทันสมัยผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยกระดับบุคลากรและผู้ประกอบการให้มีคุณภาพ สามารถปรับตัวให้กับบริบทของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
3. ส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว โดยการสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและการท่องเที่ยว
ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย
4. พิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนข้อร้องเรียนของภาคประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
สรุปผลงานของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ประกอบด้วย การประชุมพิจารณาประเด็นต่าง ๆ การพิจารณาเรื่องร้องเรียน จำนวน 92 ครั้ง โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ให้ข้อมูลและแก้ปัญหาร่วมกับคณะกรรมาธิการ การจัดสัมมนา จำนวน 12 ครั้ง การจัดสัมมนาและศึกษาดูงาน จำนวน 38 ครั้ง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว การตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา จำนวน 4 คณะ และรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ญัตติแนวทางในการส่งเสริมแก้ไขปัญหาและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งได้รับมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1 เรื่อง
จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ เพื่อให้การพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ
ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุน การแก้ไขปัญหาอุปสรรค และการพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้อย่างครบถ้วน โดยผ่านกระบวนการประชุม
การศึกษาดูงาน และการจัดสัมมนา
ส่วนทิศทางประกอบการพิจารณา ของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26
เห็นควรพิจารณาในสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยว เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของโลกที่มีการเปลี่ยนไปอย่างก้าวหน้าและรวดเร็ว
โดยมีคณะกรรมาธิการเป็นกระบอกเสียงเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
โดยควรพิจารณาเรื่องหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
1. ภาครัฐควรเน้นการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอินฟราสตรัคเจอร์ด้านการท่องเที่ยว
โดยเน้นด้านนโยบาย เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนมากกว่าการเน้นที่จะควบคุมกฎ ระเบียบ อันอาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และยังไม่มีการพัฒนาระบบต่าง ๆ
ให้มีความทันสมัย เพื่อใช้รองรับความเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ทันกับความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ
2. ส่งเสริมและสร้างมูลค่าของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยอาศัยปัจจัยที่อยู่ในกระแสความต้องการของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ เช่น การสนับสนุนให้เกิดซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ในทุก ๆ หมู่บ้าน ทุก ๆ ตำบล เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละพื้นที่ อันเป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยว เป็นการสร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง สร้างระบบให้ไทยเป็นแหล่งช็อปปิ้งพาราไดซ์ เป็นแหล่งสินค้าราคาถูกและเป็นธรรม รวมทั้งสร้างระบบอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว อาทิ กรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับนักท่องเที่ยวได้ที่ร้านค้า
กล่าวโดยสรุป คณะกรรมาธิการจึงควรเป็นกระบอกเสียง เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งสร้างและแก้ไขปัญหาในเรื่อง การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน