คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

นับแต่ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ 11 กันยายน2562 ที่ประชุมได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นต้นมา คณะกรรมาธิการได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เพื่อให้ทำการสอบหาข้อเท็จจริงหรือพิจารณาศึกษาในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีความหลากหลายมากมายหลายเรื่อง โดยคิดคำนวณนับแต่วันดังกล่าวจนถึง ปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,508 เรื่อง เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ จำนวน 254 เรื่อง โดยในการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ คณะกรรมาธิการจะเชิญประชาชนที่เป็นผู้ร้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ อีกทั้งยังได้ทำการเรียกขอข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ นอกจากนี้ ในบางเรื่องได้มีการลงพื้นที่ไปทำการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา

ในระหว่างที่คณะกรรมาธิการดำเนินการพิจารณาดังกล่าว เรื่องบางส่วน เจ้าหน้าที่ของรัฐได้พยายามทำการแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ เป็นที่พอใจและไม่ติดใจของผู้ร้อง หรือได้เร่งดำเนินการให้ถูกต้อง ก่อนที่คณะกรรมาธิการจะได้ทำการพิจารณาแล้วเสร็จ เรื่องบางส่วน เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีการเร่งดำเนินการ จนเรื่องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายต่อไป เรื่องบางส่วน เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เร่งดำเนินการ จนส่งต่อให้หน่วยงานอื่นรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ และเรื่องบางส่วน ก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ร้อง ส่งผลทำให้คณะกรรมาธิการได้มีการยุติเรื่อง นอกจากนี้ เรื่องบางส่วนคณะกรรมาธิการได้ทำการพิจารณาจนเสร็จสิ้น และได้ส่งรายงานการสอบหาข้อเท็จจริงและรายงานการพิจารณาศึกษา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป จำนวน 43 เรื่อง

คณะกรรมาธิการได้ทำการจำแนกเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว โดยใช้หลักเกณฑ์การจำแนกตามสภาพปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญและความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ โดยสามารถทำการจำแนกเป็นเรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การประพฤติมิชอบ และการทุจริตต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ดังต่อไปนี้
1. การทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2. การทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับการยุติธรรม
3. การทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและ การบริหารพัสดุภาครัฐ การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ
4. การทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในภาครัฐ
5. การทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับสิทธิและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของประชาชนและของรัฐ
6. การทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ที่มิใช่เรื่องในข้อ 1 - 5

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ล้วนยังคงเป็นปัญหาหลักที่สำคัญของประเทศ และเป็นอาชญากรรมที่คอยกัดกร่อนศีลธรรม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ผุกร่อนพังทลายลงบ่อนทำลายความสุข ความหวัง ความเจริญ และความมั่นคงของสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติให้ล่มสลายได้ในที่สุด จึงเป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมาธิการและประชาชนทุกคน ที่จะต้องคอยช่วยกันกำจัดอาชญากรรมนี้ให้เบาบางและหมดสิ้นไป ซึ่งคณะกรรมาธิการจะพยายามทำหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มกำลังความรู้ ความสามารถให้ดีที่สุด เพื่อช่วยขจัดปัญหาอาชญากรรมนี้รวมทั้งเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการ และมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ อันเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณา สอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาของคณะกรรมาธิการนั้น นอกเหนือจากเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรมอบหมายให้ทำการพิจารณาแล้ว คณะกรรมาธิการยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งมีการหยิบยกประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญหรือเป็นที่สนใจของประชาชน อันเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ มีเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาเป็นจำนวนมาก โดยเป็นเรื่องที่มีความหลากหลาย เช่น เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ การบริหารงานบุคคลในภาครัฐ และสิทธิและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เป็นต้น

ทั้งนี้ ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และประโยชน์สุขต่อประชาชน รวมทั้งบรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสามารถตอบสนองความต้องการหรือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในเวลาอันรวดเร็ว คือ การกำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการอย่างชัดเจน ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. การศึกษามาตรการเกี่ยวกับการปลูกฝังและป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบควบคู่กับการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
2. การกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เพื่อให้การดำเนินงานอยู่ภายใต้กรอบหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมาธิการตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
3. การตั้งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ รวมทั้งที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ (ไม่มีค่าตอบแทน) ควรมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างแท้จริง ประกอบกับต้องประพฤติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

คณะกรรมาธิการอื่นๆ