คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม

คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการวางแผน การส่งเสริมและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม

ความโดดเด่นในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการช่วงสมัยสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 คือ การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในประเทศ ให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ป่านกลาง (Middle Income Trap ) และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีขอบเขตงานที่สำคัญ คือ
1) สร้างความเข้าใจ และสร้างความสำคัญของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ให้กับประชาชนได้รับรู้
2) สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนฐานราก
3) สร้างเศรษฐกิจของประเทศ และ
4) สร้างคนและสร้างประโยชน์สาธารณะ

คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามขอบเขตงานดังกล่าว โดยมีการประชุมพิจารณา จำนวน 114 ครั้ง การจัดสัมมนาจำนวน 37 ครั้ง การศึกษาดูงานในภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 42 ครั้ง และศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับนวัตกรรมการผลิตอาหาร โดยนำวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า จำนวน 1 ครั้ง ตลอดจนการรับรองแขกต่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระดับ ดังนี้

1. ระดับนโยบาย
คณะกรรมาธิการได้พิจารณาศึกษานโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกทั้งการเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเพื่อหาแนวทางส่งเสริม สนับสนุนและแก้ไขปัญหา อาทิ
1.1 การประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งงานวิจัยด้านพลังงานทดแทน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาแพง
1.2 การเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์โรคอุบัติใหม่และโรคระบาดต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นต้น นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการเพื่ออนาคต รัฐสภา สาธารณรัฐฟินแลนด์ เพื่อร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
1.3 การผลิตและพัฒนายาสมุนไพรจากพืชฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การวิจัยยาต้านความชราจากพืชสมุนไพรมณีแดง
1.4 การเสนอแนวทางการวางแผนการผลิตบัณฑิต ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและนโยบายไทยแลนด์ 4.0

2. ระดับฐานราก
คณะกรรมาธิการได้ริเริ่มโครงการพัฒนาอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรฐานรากด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม : โครงการจังหวัดโมเดล โดยเพิ่มรายได้เดือนละ 10,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 11 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาค

นอกจากการดำเนินงานในระดับประเทศแล้ว ยังได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับฐานรากของต่างประเทศ โดยเชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนประจำประเทศไทยมาร่วมพบปะหารือกัน ณ สภาผู้แทนราษฎร การเดินทางเข้าพบเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาข้อมูลด้านนโยบายและแผนงานในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งการสร้างสัมพันธ์ไมตรีอันดีต่อกัน เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับรายได้ให้แก่ประชาชน

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ โดยมีประเด็นที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญในการพิจารณา เพื่อเสนอทิศทางการพิจารณาไปยังคณะกรรมาธิการชุดถัดไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ตลอดจนการพัฒนาประเทศ ดังนี้

1. ระดับนโยบาย
1.1 การศึกษานโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการนำงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเฝ้าติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและการพัฒนาประเทศ
1.2 การเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์โรคอุบัติใหม่และโรคระบาดต่าง ๆ
1.3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีชั้นสูง สาธารณสุข
1.4 การผลิตบัณฑิตและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและนโยบายไทยแลนด์ 4.0
1.5 รัฐควรสนับสนุนหรือจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการพัฒนาและส่งเสริมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น

2. ระดับฐานราก
2.1 การเป็นกลไกกลางในการบูรณาการการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ระหว่างเกษตรกร สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเป้าหมาย คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการเศรษฐกิจฐานราก: จังหวัดโมเดล
2.2 การศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและขจัดความยากจนของประชาชนในระดับฐานรากด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของต่างประเทศ

คณะกรรมาธิการอื่นๆ