คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค

คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นจำนวน 2 คณะ
คณะที่หนึ่ง คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะ เพื่อการแก้ไขปัญหาของการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์สภาพปัญหา การบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะด้านกฎหมายแนวนโยบาย และมาตรการอื่น ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีความทันสมัยและเป็นธรรม
และคณะที่สอง คณะอนุกรรมาธิการศึกษากลั่นกรองเรื่องร้องเรียนและสภาพปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่ศึกษากลั่นกรองและวิเคราะห์เรื่องร้องเรียนรวมทั้งสภาพปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค เพื่อเสนอให้คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

อัตลักษณ์สำคัญของคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 คือ การศึกษาพิจารณาในรูปแบบการประชุมพิจารณา การสัมมนา การศึกษาดูงาน และการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของประชาชน โดยสามารถจำแนกขอบเขตงานที่สำคัญได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. เรื่องร้องเรียน เช่น การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ สินเชื่อส่วนบุคคล (บัตรกดเงินสด) ในอัตราที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ปัญหารถยนต์ชำรุดบกพร่อง การปล่อยสินเชื่อนอกระบบ ปัญหาการรักษาพยาบาล และกรณีผู้ประกอบการรับประกันภัยไม่ชดใช้เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัย เป็นต้น
2. เรื่องที่คณะกรรมาธิการให้ความสนใจและเรื่องที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค เช่น ปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินกว่าราคาที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านช่องทางออนไลน์ (Platform) ต่าง ๆ ปัญหาการกำหนดราคาค่าบัตรโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost Airline) และสิทธิของผู้บริโภคกรณีความล่าช้าของเที่ยวบิน เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการได้เดินทางไปศึกษาดูงานปัญหามลพิษจากศูนย์กำจัดมูลฝอย ปัญหามลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมทำให้ผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบ ปัญหาการจัดการระบบสาธารณูปโภคและมาตรฐานคุณภาพบ้านจัดสรร ปัญหาความชำรุดบกพร่อง โดยลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมทั้งได้มีการจัดสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของคณะกรรมาธิการ สิทธิของผู้บริโภค และแนวทางการคุ้มครองดูแลตนเองแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนผู้ที่สนใจในจังหวัดต่าง ๆ อาทิ โครงการจัดสัมมนา เรื่อง รู้จักใช้ รู้จักคิดกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การคุ้มครองผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ และโครงการเยาวชนกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค (สคบ.น้อย) อีกด้วย

ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26

จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ โดยมีประเด็นที่คณะกรรมาธิการได้ให้ความสำคัญในหลายเรื่องโดยหากพิจารณาจากบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจหรือซื้อขายสินค้าในปัจจุบัน ได้ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นผ่านแอปพลิเคชัน Lazada, Shopee, Facebook, Instagram, Tiktok หรือโปรแกรมอื่นใด ซึ่งเป็นช่องทางการทำธุรกรรมที่เปิดกว้าง ผู้บริโภคมีสิทธิเสริภาพในการเลือกซื้อที่หลากหลาย อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวิถีการเลือกซื้อสินค้าจึงเปลี่ยนไป และด้วยความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว

เทคนิคและวิธีการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้มีบุคคลบางกลุ่มมีการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่เป็นความจริง รวมทั้งมีมิจฉาชีพที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในทางมิชอบ จนก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคอันเนื่องมาจากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาการไม่ได้รับสินค้า สินค้ามีความแตกต่างหรือไม่ถูกต้องตามที่ตกลงไว้ ปัญหาการได้รับสินค้าล่าช้า ปัญหาสินค้าเสียหาย ตลอดจนการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว และไม่ได้รับการชดใช้เยียวยาจากปัญหาในแต่ละกรณีอีกด้วย

นอกจากนี้ บางครั้งผู้บริโภคบางกลุ่มอาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยาก หรือไม่มีความประสงค์ในการเรียกร้องค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากความยุ่งยากหรือราคาสินค้าที่ไม่สูงนัก จนเป็นเหตุให้กลุ่มมิจฉาชีพ หรือผู้ประกอบการบางกลุ่มไม่เกรงกลัวต่อการกระทำดังกล่าว จนส่งผลให้มีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอยู่เรื่อยไป

ดังนั้น ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 จึงควรพิจารณากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันว่า มีบทบัญญัติที่เพียงพอในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคหรือไม่ ตลอดจนหามาตรการในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การเสริมสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิทธิของผู้บริโภคมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ อันเนื่องมาจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 ที่บัญญัติให้สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง และมาตรา 61 ที่บัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ

คณะกรรมาธิการอื่นๆ