คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคมไม่น้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน การให้บริการด้านสวัสดิการสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ยากไร้ในเมืองและชนบท และผู้ด้อยโอกาสในสังคม
อัตลักษณ์สำคัญของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 คือ การพิจารณาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และการศึกษาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ กล่าวคือ
1. การพิจารณาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยคณะกรรมาธิการได้รวบรวมปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนเป็นข้อมูลทางวิชาการพื้นฐาน ตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชน ไว้เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพที่อยู่อาศัยของประชาชนให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้กำหนดกรอบการพิจารณาศึกษาใน 6 ประเด็น ได้แก่ปัญหานโยบายของรัฐ ปัญหาสถานที่ตั้งโครงการที่อยู่อาศัย ปัญหาจากสภาพที่อยู่อาศัยปัญหาด้านสาธารณูปโภค ปัญหาด้านกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย และปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะ เช่น ควรมีการพิจารณาทบทวนกฎหมายระยะเวลาในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของทางราชการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เช่าที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบ ในการบำรุงรักษาดูแลระบบสาธารณูปโภคของแต่ละโครงการ และการเคหะแห่งชาติ ควรสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ ของระบบสาธารณูปโภคในโครงการที่อยู่อาศัยของตน เป็นต้น
2. การศึกษาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ซึ่งสร้างความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุโดยใช้ระบบบำนาญ เป็นหนึ่งในหลักประกันทางสังคมที่ภาครัฐควรจัดให้ประชาชน คณะกรรมาธิการจึงเห็นควรเสนอให้ประชาชนทุกคนมี "สิทธิบำนาญพื้นฐาน" เพราะสวัสดิการด้านบำนาญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับในลักษณะถ้วนหน้า โดยจ่ายให้ประชาชนผู้มีอายุถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดทุกคน แม้ว่าผู้สูงอายุบางส่วนจะได้รับสวัสดิการบำนาญจากกองทุนการออมภาคบังคับอื่นแล้วก็ตาม ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุทุกคนมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง ลดการพึ่งพิง ลดการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น ช่วยแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรังได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม ผ่านทางการลงทุนและการใช้จ่ายของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐจะได้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจคืนมาได้รูปแบบของภาษีประเภทต่าง ๆ
สรุปผลงานของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25
ประกอบด้วย ผลงานการประชุมพิจารณาประเด็นต่าง ๆ จำนวน 67 ครั้ง การจัดสัมมนาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 75 ครั้ง
โดยรวมจำนวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้นมากกว่า 5,000 คน มีการเดินทางไปศึกษาดูงาน จำนวน 17 ครั้ง และมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ
จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมาธิการพัฒนาคุณภาพที่อยู่อาศัยของประชาชน และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมได้นำเสนอรายงานแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติต่อสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบและได้ส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ โดยมีประเด็นที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญ
ได้แก่ การแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติ ปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ
ดังนั้น คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 จึงควรพิจารณาประเด็นด้านสวัสดิการสังคม ดังนี้
1. สถานการณ์การจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนไทย
1.1 แนวคิดการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยในประเด็นนี้
ควรเป็นการศึกษาในประเด็นที่ว่าประเทศไทยควรจัดสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้าหรือจะเป็นการจัดสวัสดิการสังคมเชิงสงเคราะห์
1.2 งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมของประเทศไทยที่ควรจะเป็น
1.3 ที่มาของรายได้ซึ่งจะนำมาจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม
2. การติดตามการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ
3. การติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนไทย