คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศแรงงานไทยในต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์กับองค์กรแรงงานในต่างประเทศ ตลอดจนการลงทุนที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานโดยรวม จากหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการดังกล่าว คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน ทั้งด้านการประชุม การเดินทางไปศึกษาดูงาน การจัดสัมมนา ตลอดจนการรับเรื่องร้องเรียนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
คณะกรรมาธิการได้มีการประชุม จำนวน 105 ครั้ง เดินทางไปศึกษาดูงาน จำนวน 36 ครั้ง และจัดสัมมนา จำนวน 60 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน โดยให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ อันนำไปสู่การกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การแก้ไขปัญหาการจ้างเหมาบริการของหน่วยงานภาครัฐ การส่งเสริมปัจจัยการผลิตไฟฟ้าและแหล่งน้ำเพื่อแรงงานภาคการเกษตร การแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ การคุ้มครองสิทธิแรงงานจ้างเหมาในสถานประกอบการ ตามมาตรา 11/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 การปรับปรุงและเสนอกฎหมายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน การแก้ไขปัญหาแรงงานผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) การให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และการช่วยเหลือแรงงานและสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งการพิจารณาศึกษาและเสนอกฎหมาย จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ .. พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ....
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ
เพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการจำนวน 2 คณะ ดังนี้
(1) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงาน มีการประชุม จำนวน 61 ครั้ง มีการเดินทางไปศึกษาดูงาน จำนวน 2 ครั้ง และจัดสัมมนา จำนวน 1 ครั้ง
(2) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ มีการประชุม จำนวน 42 ครั้ง
จากการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณาในคณะกรรมาธิการการแรงงาน
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่าคณะกรรมาธิการการแรงงาน ได้ดำเนินการพิจารณาศึกษาปัญหาตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางการพิจารณาที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญ ดังนี้
(1) ปัญหาแรงงานในระบบ
(2) ปัญหาแรงงานนอกระบบ
(3) ปัญหาแรงงานของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
(4) ปัญหาแรงงานไทยในต่างประเทศ และ
(5) ปัญหาแรงงานข้ามชาติ
คณะกรรมาธิการการแรงงานพิจารณาและติดตามประเด็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
(1) อัตราค่าจ้างแรงงาน
(2) สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน
(3) กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการแรงงาน
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 จึงควรพิจารณาประเด็นอัตราค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยมีข้อเสนอดังนี้
1. สถานการณ์ของค่าครองชีพในปัจจุบันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ปรับอัตรามาแล้วถึงสองปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 - 2563)
2. แนวทางการพัฒนาระบบค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิตและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า
2.1 การทบทวนนิยามหรือคำจำกัดความค่าจ้างขั้นต่ำ โดยใช้มุมมองแบบแรงงาน (labour perspective) ตามนิยามและคำจำกัดความของค่าจ้างขั้นต่ำ
2.1.1 ค่าจ้างขั้นต่ำ (minimum wage)
2.1.2 ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (Skill-based pay)
2.1.3 ค่าจ้างเพื่อดำรงชีวิต (living wage)
2.2 การดำเนินการยกระดับค่าจ้าง "ค่าจ้างขั้นต่ำ" ให้เป็น "ค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต"
และ "มาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า"
2.3 การสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานและปฏิรูประบบไตรภาคี
2.4 การพิจารณาสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามอนุสัญญา ILO