คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินทุกระดับ ได้แก่ ปัญหาหนี้สินของประเทศ หนี้สินภาคธุรกิจ หนี้สินภาคอุตสาหกรรม หนี้สินภาคประชาชน และหนี้สินเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนหนี้สินเกษตรกร
อัตลักษณ์สำคัญของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ชุดที่ 25 คือ การศึกษาพิจารณาในรูปแบบคณะกรรมาธิการซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาประเด็นต่าง ๆ จำนวน 105 ครั้ง โดยได้เชิญหน่วยงานเข้าชี้แจง จำนวน 101 หน่วยงาน การจัดสัมมนา จำนวน 86 ครั้ง การศึกษาดูงาน จำนวน 33 ครั้ง รวมทั้งมีการตั้งอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา จำนวน 2 คณะ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ คือ
1. การพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง ปัญหาหนี้สินในครัวเรือน
หนี้สินภาครัฐ รวมทั้งค่าครองชีพสูงจากราคาน้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า เพื่อศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม
และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน โดยมีผลสัมฤทธิ์ ดังนี้
1.1 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการ และเห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบและดำเนินการต่อไป
1.2 คณะกรรมาธิการนำส่งรายงานของคณะกรรมาธิการให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 77 จังหวัด และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ และเป็นองค์ความรู้ด้านวิชาการให้แก่หน่วยงานและประชาชนที่สนใจต่อไป
1.3 คณะกรรมาธิการนำส่งรายงานของคณะกรรมาธิการให้แก่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุรัฐสภา และห้องสมุดรัฐสภา
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการและเป็นองค์ความรู้ด้านวิชาการ อันเป็นประโยชน์แก่สมาชิกรัฐสภาคณะกรรมาธิการ ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
บุคคลในวงงานรัฐสภา และประชาชนที่สนใจต่อไป
1.4 คณะกรรมาธิการนำส่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 หน่วยงาน อันได้แก่
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบังคับคดี
1.5 เผยแพร่รายงานการพิจารณาศึกษา เพื่อให้บุคคลในวงงานรัฐสภาและผู้ที่มีความสนใจผ่านทางเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการ
2. การพิจารณาหาแนวทางแก้ไข ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้มีการลงพื้นที่เพื่อรับทราบสภาพปัญหาของผู้ประกอบการและผู้ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และได้มีการส่งเรื่องไปให้นายกรัฐมนตรีเพื่อขอความอนุเคราะห์ ให้พิจารณาช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ร้องต่อไป โดยในเวลาต่อมารัฐบาลได้มีการประชุมเพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และได้มีการพิจารณาเห็นชอบโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อก และโครงการยกระดับส่งผ่านความช่วยเหลือให้แก่ลูกหนี้อย่างเหมาะสม
จากผลการวิเคราะห์ประเด็นที่พิจารณา ในคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ชุดที่ 25 พบว่าคณะกรรมาธิการได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ โดยมีประเด็นที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญในการพิจารณามาก ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มและทิศทางการพิจารณาที่คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญ 3 ลำดับแรก คือ (1) การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน (2) การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร (3) การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศ อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการที่มีการศึกษาพิจารณาน้อยกว่าประเด็นอื่น ๆ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคอุตสาหกรรม
ทิศทางประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26
จึงควรพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ อย่างครบถ้วน และกระจายความถี่ของการพิจารณาอย่างสมดุล โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
1. สถานการณ์ปัญหาหนี้สินของภาคส่วนต่าง ๆ
2. การติดตามผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
3. แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน โดยการจัดกลุ่มตามแต่ละประเภทหนี้ เช่น กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้สินเรื้อรัง กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน
และกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาการขาดความสามารถในการชำระหนี้
4. แนวทางการป้องกันการเกิดปัญหาหนี้สินในอนาคต