คณะกรรมาธิการการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหาร การพัฒนา การจัดหา การใช้ การอนุรักษ์พลังงาน และผลกระทบจากการจัดหาและการใช้พลังงาน รวมทั้งการแสวงหาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการพลังงานตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ จำนวน 123 ครั้ง มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 6 คณะ เพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการในด้านพลังงานทดแทน น้ำมัน ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชุมชน ยานยนต์ไฟฟ้า และการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมทั้งการพิจารณาเรื่องร้องเรียน และญัตติที่ได้รับมอบหมายจากสภาผู้แทนราษฎร อาทิ ญัตติเพื่อพิจารณาศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและกองทุนน้ำมันให้เป็นระบบและยั่งยืน เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่ทางปฏิบัติ สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนผู้บริโภค ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้กับประชาชน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและผู้ประกอบการด้านพลังงาน ทั้งในมิติด้านนโยบาย กฎหมาย กฎ ระเบียบ แนวทางการดำเนินงาน และการเยียวยาผลกระทบต่อประชาชน
การดำเนินการของคณะกรรมาธิการ ในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมาธิการได้มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและโครงสร้างราคาไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินการตามมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งได้มีการเสนอรายงานผลการศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบพลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม และยั่งยืน
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังมีภารกิจในการเดินทางไปศึกษาดูงาน เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาต่อยอดในการพิจารณาศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เดินทางไปศึกษาดูงานและจัดสัมมนาในประเทศทั้งสิ้น จำนวน 75 ครั้ง
การดำเนินการตามภารกิจของคณะกรรมาธิการดังกล่าว
ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการด้านพลังงานและส่งผลดีต่อประชาชนในหลายด้าน ดังนี้
1. ลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชน และสร้างความเป็นธรรมด้านราคาพลังงานให้กับผู้บริโภค
2. ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานได้อย่างเป็นธรรม
3. ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจด้านพลังงาน
4. รัฐบาลและกระทรวงพลังงานได้นำเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา พร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะมาเป็นแนวทาง
ในการบริหารจัดการนโยบายด้านพลังงานทดแทน น้ำมัน ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชุมชน และยานยนต์ไฟฟ้า
ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา แนวโน้มสถานการณ์ด้านพลังงานของทั่วโลกและประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) วิกฤตการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ราคาพลังงานมีความผันผวนและต้นทุนราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมาธิการการพลังงาน ชุดที่ 26 จึงควรให้ความสำคัญในการพิจารณาศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับด้านพลังงาน ดังนี้
1. โครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน และราคาไฟฟ้า
2. การกำหนดนโยบายและแผนด้านการผลิตไฟฟ้า และการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม
3. การส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน และการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
4. การติดตามการดำเนินงานตามแผนพลังงานชาติ ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP)
แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) แผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
(Alternative Energy Development Plan: AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan: EEP)