คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและการพัฒนางานด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจที่เป็นอัตลักษณ์ของคณะกรรมาธิการ คือ การให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ อาทิ การส่งเสริมเรื่องสุขภาพดิจิทัล (Digital Health) และ TELEMEDICIN เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รวมถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และบริการด้านเทคโนโลยีกิจการอวกาศ(Space Economy) ในภูมิภาค นอกจากนั้น ยังมีขอบเขตการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ คือ
1. พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงและการพิจารณาศึกษาในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร สารสนเทศ การโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ทั้งในกระบวนการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำเอากระบวนการดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การให้บริการผ่าน Platform เชิงพาณิชย์ และในธุรกิจ Startup เป็นต้น รวมทั้งติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น
2. สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร สารสนเทศ ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ การโทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ให้ครอบคลุมทั่วถึง เพียงพอ มีคุณภาพ รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการดังกล่าว เช่น การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล และการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตชุมชน เป็นต้น
3. สร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องปลอดภัย รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน และส่งเสริมการรู้เท่าทันในการบริโภคสื่อออนไลน์ หรือสื่อสมัยใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและอาชญากรรมไซเบอร์
สรุปการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 มีการประชุมพิจารณา รวม 117 ครั้ง การตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 4 คณะ การจัดสัมมนาให้ความรู้กับประชาชน รวม 43 ครั้ง การเดินทางศึกษาดูงานในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน จำนวน 26 ครั้ง โดยได้นำเสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมจำนวน 8 เรื่อง เพื่อพิจารณา พร้อมกับส่งรายงานและข้อสังเกตดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในอนาคต ประเทศไทยมีแนวโน้มนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัล เข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการมากขึ้น ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยพิจารณาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่ได้กำหนดมิติภาคการผลิตและบริการ ไว้ 6 ประการ โดยหนึ่งในนั้น คือ กำหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน แต่อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่า ในอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยนั้นยังถือว่ามีจุดอ่อน เพราะส่วนมากจะเป็นการนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ ดังนั้น การสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้า การผลิตคิดค้น และการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นรากฐานที่จะสร้างความเข้มแข็งสำหรับการแข่งขันในอนาคต
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มและผลกระทบดังกล่าว
จึงมีทิศทางประกอบพิจารณาของคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. การลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล จะมีการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนเข้ามาในประเทศมากขึ้น
ฉะนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับนักลงทุนไทย ด้วยการพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
2. การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล ที่จะขยายตัวเฉพาะพื้นที่ตามเมืองใหญ่และเขตชุมชน
โดยอาจละเลยต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่แหล่งเศรษฐกิจสำคัญ อันอาจทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเกิดปัญหาทางความเหลื่อมล้ำ
3. การเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอาชญากรรมทางไซเบอร์
ซึ่งนับวันจะมีรูปแบบที่หลากหลายและความเสียหายที่รุนแรงมากขึ้น ตามความเจริญของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นวงกว้าง
โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดี เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งอาจถือเป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ