คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 141 กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน
โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการแห่งร่างพระพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษางบประมาณในแต่ละด้าน ตั้งข้อสังเกตท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการ และเสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 143 กำหนด โดยสภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ 30 วัน
ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี คณะกรรมาธิการวิสามัญจะมีการกำหนดแผนการพิจารณาที่ชัดเจน แต่เนื่องด้วยหน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณมีจำนวนมากและข้อจำกัดด้านระยะเวลา ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณางบประมาณมีประสิทธิภาพ คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงจำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ช่วยพิจารณารายละเอียดงบประมาณ โดยมีเกณฑ์ในการตั้งคณะอนุกรรมาธิการจำแนกตามแผนงานพื้นฐานและยุทธศาสตร์แต่ละด้าน อาทิ ด้านครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ด้านการศึกษา ด้านการประชาสัมพันธ์ ในส่วนการพิจารณาคำแปรญัตตินั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญจะคำนึงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 144 วรรคหนึ่งและวรรคสอง อย่างเคร่งครัด
เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จแล้ว จะส่งรายงานพร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา และให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันพ้นกําหนดเวลาดังกล่าว เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว เปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อันส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศต่อไป
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการบริหาร การพัฒนา และการขับเคลื่อนประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีหน่วยงานขอรับจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 758 หน่วยงาน
ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้วเสร็จภายใน 105 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 143 กำหนดไว้
ฝ่ายเลขานุการจึงได้มีการจัดทำแนวทางการพิจารณา เพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเลือกแนวทางที่เห็นว่าเหมาะสมกับการพิจารณางบประมาณในแต่ละปี
โดยแบ่งหน่วยรับงบประมาณออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
(1) กลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจ
(2) กลุ่มภารกิจด้านสังคม
(3) กลุ่มภารกิจด้านความมั่นคง
(4) กลุ่มภารกิจด้านบริหาร
(5) หน่วยงานอิสระของรัฐ
พร้อมจัดทำแนวทางการพิจารณาเพื่อเสนอให้คณะกรรมาธิการพิจารณา 4 แนวทาง ได้แก่
ทางเลือกที่ 1 พิจารณากลุ่มภารกิจตามด้านพร้อมแผนงานบูรณาการ
ทางเลือกที่ 2 พิจารณากลุ่มภารกิจตามด้านแล้วเสร็จ ต่อด้วยการพิจารณาแผนงานบูรณาการ
ทางเลือกที่ 3 พิจารณาแผนงานบูรณาการแล้วเสร็จ ต่อด้วยการพิจารณากลุ่มภารกิจตามด้าน
ทางเลือกที่ 4 พิจารณารายมาตรา
โดยที่ผ่านมาพบว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เลือกใช้ทางเลือกที่ 2 เป็นแนวทางในการพิจารณามากที่สุด ดังนั้น เมื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมา
จึงเห็นว่า ข้อเสนอทิศทางการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26
ควรมีองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
1. กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เช่น กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็นต้น
2. การดำเนินการต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการ ควรอยู่ภายใต้กรอบหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้
3. คณะกรรมาธิการควรมีมติกำหนดแนวทางการพิจารณาที่ชัดเจนและเหมาะสมร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ
การเข้าชี้แจงของหน่วยรับงบประมาณ ตลอดจนฝ่ายสนับสนุนการประชุมให้กับคณะกรรมาธิการ